สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าด้วยความที่ราคาของเหล่าคริปโตเคอเรนซี่ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ สนใจจะทำสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองในโครงการดอลลาร์ ดิจิทัล (Dollar Digital) ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างดิจิทัล ดอลลาร์ ฟาวเดชัน (Digital Dollar Foundation) และบริษัทแอกเซนเจอร์ (Accenture) เพื่อตรวจสอบและส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

โดยทางแอกเซนเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศให้ทุนกับบริษัทภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายในการสร้าง data ที่สามารถแจ้งให้ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ทราบได้ว่าพวกเขาจะพัฒนาดอลลาร์ดิจิทัลเมื่อใดและกำลังอยู่ในขั้นตอนไหน

ดอลลาร์ดิจิทัลจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อิงกับราคาของเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐจริง ๆ ทำให้ดูเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงโดยตรงได้กับกองทุนในธนาคารกลางและทำให้ผู้ใช้สามารถชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บัตรเดบิตและแอปชำระเงิน third-party ทั่วไปก็เป็นเงินสดแบบดิจิทัลอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แต่ธุรกรรมเหล่านี้จะทำได้ผ่านเงินที่มาจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารแบบ third-party หรือของธนาคารบุคคลที่สาม ไม่ใช่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางโดยตรง ทำให้การทำธุรกรรมผ่านแอปของบุคคลที่สามอาจใช้เวลาหลายวันในการชำระและมักต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

การใช้ดอลลาร์ดิจิทัลคงจะเป็นทางออกที่ดีในการชำระเงินแบบดิจิทัล เพราะผ่านจากธนาคารกลางโดยตรง ทำให้ทำเวลาได้ดีกว่าและอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม โดยผลลัพธ์ของโครงการนำร่องบางส่วนอาจจะออกมาเร็วกว่าที่ประเมินเอาไว้

ซึ่งการที่คริปโตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับความสนใจในสกุลเงินดิจิทัลของทั่วโลก ทำให้ต้องเกิดการควบคุมอย่างเข้มข้นในภาคเอกชน ดังนั้น ธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งในยุโรปและจีนก็กำลังดำเนินการอย่างจริงจังด้วย เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทั้งหลายของสกุลเงินดิจิทัลและปรับปรุงระบบการชำระเงินสำหรับเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทครุ่นต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส