‘นกน้อยตื่นเช้าจะได้กินหนอนมากกว่า’
คำกล่าวที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต้องตื่นแต่เช้า เพราะเราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ตื่นเช้าได้เปรียบ มีเวลามากกว่าคนตื่นสาย ตัวอย่างที่เราเห็นก็เช่น ซีอีโอของ Apple อย่าง ทิม คุก (Tim Cook) ที่ตื่นตั้งแต่ 03:45 น. ทุกวันเพื่อทำงาน หรือซีอีโอของ Fiat เซอร์จิโอ มาร์ชิโอเน (Sergio Marchionne) ที่ตื่นตั้งแต่ 03:30 น. หรือซีอีโอของ Twitter อย่าง แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ที่ตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อไปวิ่งวันละ 10 กิโลเมตรทุกวัน

เมื่อเราอ่านเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จมากมายเหล่านี้ก็คงอดไม่ได้ที่จะเชื่อว่า การตื่นเช้านั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ ตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ วางแผนการทำงานในแต่ละวัน รับประทานอาหารเช้า และเริ่มทำงานก่อน 8 โมงเช้า

แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นล่ะ? การกด snooze นาฬิกาปลุกนับครั้งไม่ถ้วนสามารถบ่งบอกว่าเราจะกลายเป็นคนล้มเหลวในบั้นปลายชีวิตได้จริง ๆ เหรอ? คนตื่นเช้ามักถูกยกย่องว่าเป็นคนขยัน ส่วนคนตื่นสายนั้นขี้เกียจ แต่ที่จริงแล้วมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าความแตกต่างระหว่างคนตื่นเช้า (Early Bird) กับ คนที่นอนดึกตื่นสาย (Night Owl) นั้นคล้ายกับสมองซีกซ้ายและขวาที่ต่างกันยังไงยังงั้น : วิเคราะห์และทำงานเป็นทีม กับ จินตนาการและการปลีกตัวตามลำพัง

คนที่ตื่นเช้ามักจะเป็นคนที่อดทน ควบคุมและจัดการตัวเองได้ดี และทำงานกับคนอื่นเป็นทีมได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากนั้นยังชอบตั้งเป้าหมายที่สูงให้กับตัวเอง วางแผนอนาคตได้ดี และใส่ใจเรื่องของสุขภาพความเป็นอยู่ เมื่อเทียบกับคนที่นอนดึกตื่นสายแล้ว คนตื่นเช้ามีโอกาสน้อยกว่าที่จะอยู่ในสภาวะซึมเศร้าหรือดื่มเหล้าสูบบุหรี่ด้วย

แต่เหล่านกฮูกผู้เริงร่ายามค่ำคืนอย่าเพิ่งรู้สึกแย่ไปนัก เพราะถึงแม้ว่าทางวิชาการคนที่ตื่นเช้านั้นอาจจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่คนที่นอนดึกตื่นสายนั้นเมื่อวัดกันแล้วกลับมีความจำที่ดีกว่า ความสามารถในการรับรู้และประมวลผลทางความคิดนั้นทำได้ดีกว่า (แม้จะต้องทำตอนเช้า) แถมยังเป็นคนที่กล้าเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และชอบทำอะไรที่ต่างออกไปจากเดิม รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเยอะกว่า (แม้จะไม่เสมอไป)​ ที่สำคัญความเชื่อเดิม ๆ ที่บอกว่านกน้อยที่ตื่นเช้านั้นจะได้กินหนอนที่เยอะกว่าหรือมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่านั้นไม่จริงซะทีเดียว เพราะหากดูจากผลสำรวจแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นนกตื่นเช้าหรือนกฮูกก็มีสุขภาพแข็งแรงไม่ต่างกัน ฉลาดไม่ต่างกัน และรายได้เฉลี่ยก็ไม่ต่างกันอีกด้วย (ที่จริงผลสำรวจบอกว่าเหล่านกฮูกอาจจะมีมูลค่าทรัพย์สินเยอะกว่าเล็กน้อยด้วย) เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนตัวเองจากนกฮูกให้เป็นนกตื่นเช้านั้นอาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรสักเท่าไหร่เลย

แคธารินา วูล์ฟ (Katharina Wulff) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับและนาฬิกาชีวิต (Chronobiology) จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด บอกว่า “ถ้าเราปล่อยให้ทุกคนอยู่กับนาฬิกาชีวิตที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจะรู้สึกดีกว่า จะรู้สึกว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ความสามารถทางความคิดก็จะกว้างกว่าด้วย”

เธออธิบายต่อว่าถ้าเกิดใครก็ตามถูกบังคับให้เปลี่ยนจากสิ่งที่ตัวเองเป็นตามธรรมชาติมากเกินไป สุดท้ายมันจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีซะด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราบังคับให้คนนอนดึกตื่นสายให้ตื่นเช้า ร่างกายของพวกเขายังกำลังสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินอยู่ ซึ่งการบังคับให้คนเหล่านี้ตื่นเช้าก็จะไปสร้างให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจจะส่งผลเสียตามมาภายหลังเหมือนคล้ายกับผลกระทบจากระดับน้ำตาลหรืออินซูลินเหวี่ยงในร่างกายเลย

เหตุผลที่สนับสนุนประเด็นนี้ก็คือ ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่บอกว่านาฬิกาชีวิตของเราแต่ละคนนั้นที่จริงเป็นเรื่องของพันธุกรรมกว่า 47% นั่นหมายถึงถ้าเราอยากรู้ว่าทำไมบางคนถึงเด้งตัวออกจากเตียงได้ตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน หรือ บางคนเที่ยงแล้วยังไม่ลุกจากเตียง ก็อาจจะต้องดูที่พ่อแม่อีกด้วย แถมมันก็ยังเปลี่ยนแปลงตามช่วงอายุวัยของเราด้วย อย่างตอนเด็กส่วนใหญ่แล้วจะชอบตื่นเช้า และเปลี่ยนมาเป็นนอนดึกตื่นสายช่วงวัย 20 แล้วก็กลับมาตื่นเช้าอีกทีในช่วงวัย 50 กว่า

เชื่อว่าทุกคนอยากได้ “เคล็ดลับ” ในการประสบความสำเร็จ แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องตื่นเช้า และคนตื่นเช้าทุกคนไม่ได้การันตีความสำเร็จ เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จตื่นสายก็เยอะอย่าง วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill), บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน (J.R.R. Tolkien) หรือแม้แต่บารัก โอบามา (Barack Obama)

เราไม่มีทางรู้หรอกว่าการตื่นสายทำให้คนประสบความสำเร็จมากกว่าไหม แต่ที่ชัดเจนก็คือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ “ได้เปรียบ” มากกว่าคนที่ตื่นสาย เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือที่ทำงาน การเข้างานช่วง 8-9 โมงเช้าของคนที่ตื่นเช้าถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม คนตื่นเช้าเข้างานปุ๊บลุยได้ทันที แต่สำหรับคนที่นอนดึกตื่นสาย แต่ต้องเข้างาน 8-9 โมงและต้องตื่นตั้งแต่ 7 โมง ร่างกายมันยังไม่รู้ตัวเลยว่าตื่นและนั่นทำให้งานตอนเช้าของพวกเขาห่วยแตกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งด้วยเหตุผลนี้นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้สันนิษฐานว่าการที่เหล่านกฮูกนั้นมีความคิดที่สร้างสรรค์หรือความสามารถในคิดและการเรียนรู้ที่ดีนั้นมาจากการพยายามหาทางลัดในการทำงาน จึงต้องหาวิธีทำงานที่สร้างสรรค์และออกนอกกรอบเดิม ๆ เสมอ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสอารมณ์เหวี่ยงสูงและไม่ค่อยรู้สึกพอใจกับชีวิตของตัวเองสักเท่าไหร่ และการพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนตื่นเช้าก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์ดีขึ้นหรือชีวิตเติมเต็มขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้นถ้างานของคุณหรือชีวิตของคุณนั้นมีความจำเป็นต้องตื่นเช้า และการตื่นเช้าก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จที่มากกว่าแต่อย่างใด พรุ่งนี้การกดปุ่ม “snooze” บนนาฬิกาปลุกก็ไม่จำเป็นต้องทำให้คุณรู้สึกผิดอีกต่อไปแล้ว

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5
อ้างอิง 6 อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9 อ้างอิง 10
อ้างอิง 11 อ้างอิง 12 อ้างอิง 13 อ้างอิง 14 อ้างอิง 15

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส