ประธานาธิบดี โจ ไบเดน สั่งให้ถอนทหารอเมริกันและปฎิบัติการทางด้านทหารภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2021 ได้สร้างความปั่นป่วนมากทีเดียว เพราะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มที่คัดค้าน

ในเชิงสัญญลักษณ์ไบเดนต้องการให้ภารกิจทุกอย่างในประเทศนี้จบสิ้นก่อนจะถึงครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมที่นครนิวยอร์กในวันที่ 11 กันยายน 2001 เพื่อปิดฉากความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ทางด้านการทหารสหรัฐอเมริกา

กลุ่มสนับสนุนมีอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นโต้โผใหญ่ เพราะเป็นนโยบายที่ทรัมป์พยายามทำแต่ไม่สำเร็จ ทำได้แต่เพียงลดจำนวนทหารอเมริกันให้ลดน้อยลงในระดับสามพันคน ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้พยายามถอนทหารอเมริกันแต่ก็ไม่สำเร็จ 

กลุ่มต่อต้านมีอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ออกมาวิจารณ์ว่าไม่ควรถอนทหารในตอนนี้เพราะอันตรายมาก โอกาสที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ามายึดอำนาจรัฐมีมาก บุชเป็นคนสั่งให้ทหารอเมริกันลุยอัฟกานิสถานในเดือนตุลาคม ปี 2001 เพื่อล้มรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมที่นครนิวยอร์ก บุชถึงกับแหกม่านประเพณีที่ว่าอดีตประธานาธิบดีต้องไม่ออกมาคอมเมนต์เรื่องการเมืองในและต่างประเทศของผู้นำ แต่มันแทงใจบุชมาก

ประเด็นที่น่ากลัวคือ กลุ่มตาลีบันเป็นกลุ่มคลั่งศาสนาต้องการปกครองประเทศด้วยหลักการศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ถึงกับจำกัดสิทธิเสรีภาพและการศึกษาของสตรี ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาและกลุ่มนาโต้จะเป็นห่วงเรื่องเกี่ยวกับการเป็นเผด็จการของกลุ่มนี้ แต่ก็ยังอยากถอนตัวโดยเร็วไม่ต้องการให้ทำสงครามยืดเยื้อกับกลุ่มตาลีบัน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอนาคตอัฟกานิสถานอาจจะเผชิญกับความไม่แน่นอน อาจจะถูกกลุ่มตาลีบันเขมือบ

บทเรียนเจ็บแสบที่สหรัฐฯ ต้องจดจำคือการใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการปัญหาของตัวเองในดินแดนอื่น มีแต่ความหายนะและสร้างความเจ็บปวดให้กับคนท้องถิ่น สหรัฐฯ ไม่ได้นำบทเรียนจากสงครามเวียดนามและสงครามอิรักมาใช้ ควรใช้มาตรการทางการเมืองดีกว่าการใช้มาตรการทางทหาร 

ในช่วง 20 ปี มีชาวบ้านในอัฟกานิสถานเสียชีวิตถึง 47,600 คน ส่วนทหารอเมริกันตายไป 2,300 คน รวมทั้งยังมีบาดเจ็บนับแสนคน สหรัฐฯ ผลาญงบประมาณไปทั้งสิ้น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

บทเรียนที่สองคือถ้าจะชนะหัวใจคนท้องถิ่น สหรัฐอเมริกาต้องให้ความเคารพวัฒนธรรมพื้นบ้านและความเป็นอยู่ ทั้งตอนที่ครอบครองกับตอนจากไป สิ่งที่น่าเกลียดชังที่สุดคือ ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ตอนทหารอเมริกันถอนตัวออกจากฐานทัพบักคราม (Bagram Airfield) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาใหญ่การรบ โดยไม่มีการร่ำลานายทหารอัฟกันที่ดูแลพื้นที่แม้แต่คำเดียว สหรัฐฯ ยังทิ้งอุปกรณ์และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถขนกลับไปได้ เป็นจำนวนมาก พร้อมกับนักโทษตาลีบันอีก 5,000 คน

คงจำกันได้ ฐานทัพบักครามเป็นข่าวใหญ่ในไทยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นสถานที่กักตัวนายฮัมบาลี (Hambali) หัวหน้าอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ที่ถูกสายลับซีไอเอรวบตัวได้ในประเทศไทยที่กลางใจตัวเมืองอยุธยาในเดือนสิงหาคม 2003 ต่อมาในยุครัฐบาลทักษิณได้ส่งทหารไทยจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการรณรงค์ต่อสู้กับขบวนก่อการร้ายทั่วโลก ในฐานะไทยเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ

ตอนนี้ครอบครัวของล่ามแปลจำนวนหลายพันคนทำงานให้กับทหารอเมริกันกำลังระส่ำระส่าย วิตกมากว่าจะมีใครมาดูแล ไบเดนสัญญาจะให้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ เป็นกรณีพิเศษ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร

บทเรียนสุดท้ายคือ สหรัฐอเมริกาจะทำตัวเป็นตำรวจปราบปรามแบบในอดีตไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากขั้วการเมืองในระดับนานาประเทศได้เปลี่ยนเป็นหลายขั้ว สหรัฐฯ ไม่ได้ผูกขาดเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงอีกต่อไป มหาอำนาจอื่นเข้ามาร่วมมีบทบาท

ในอนาคต คนทั้งโลกหวังว่าคนอัฟกันทุกหมู่เหล่าจะสามารถหันหน้าเข้าหากันและเจรจายุติการสู้รบเพื่อสันติภาพของพวกเขาเอง โดยไม่ต้องมีมหาอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส