“อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก”

คำกล่าวนี้ถูกพูดมานานแล้ว เชื่อว่าส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทุกคน)​ คงเคยได้ยิน มันเป็นคำเตือนใจให้เราทุกคนนั้นมองผ่านเปลือกนอกของทุกอย่าง เสาะหาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ จากข้างใน ไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็น แต่มนุษย์ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์ของคนอื่นที่เราเห็นแตกต่างไปจากมาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิด ๆ มานานหลายทศวรรษโดยวัฒนธรรมตะวันตก นิตยสารแฟชั่น ภาพยนตร์ฮอลลีวูด และล่าสุดที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีกคือ “โซเชียลมีเดีย”

เมื่อไหร่ก็ตามที่ใครสักคนหนึ่งมี “ภาพลักษณ์” ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คนเชื่อ ๆ กันว่าสวยงามหรือน่าดึงดูด ก็มักจะเจอคอมเมนต์หรือคำพูดที่สร้างความเจ็บปวดให้กับสภาพจิตใจตามมาด้วย เรามักเห็นเด็ก ๆ ทั้งหญิงและชายล้อกันเรื่องรูปลักษณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะตัวเล็ก ตัวใหญ่ ผอม สูง อ้วน ดำ ขาว ซีด ฯลฯ บางคนโตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากด้วย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเรื่องของ “Body Shaming” นั้นเกิดขึ้นกับแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น แน่นอนว่าผู้หญิงมักถูกเปรียบเทียบมากกว่าผู้ชาย เพราะมีภาพติดตาของดารานางแบบบนหน้านิตยสาร ทีวี โซเชียลมีเดียที่มากมายมหาศาล แต่ว่าผู้ชายเองก็รู้สึกถึงแนวคิดเชิงลบที่มีต่อภาพลักษณ์ของตัวเองไม่ต่างกัน

‘Body Project’ ของมหาวิทยาลัยแบรดลีย์ (Bradley University) บอกว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เด็กและผู้ใหญ่ ต่างมีความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์และผลที่ตามมาของภาพลักษณ์เชิงลบเช่นเดียวกัน เพียงแต่การศึกษาชี้ว่าผู้ชายอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เพราะภาพลักษณ์ของผู้ชายแตกต่างจากภาพลักษณ์ของผู้หญิงออกไปในหลาย ๆ ด้าน เช่น มักมีแนวโน้มเรื่องการใช้สารเสพติดมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเองและไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะรู้สึกว่ามันน่าอาย ส่วนผู้หญิงมักสำรวจตัวเองเสมอ ไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง และมักพยายามหาวิธีเพื่อจะให้ตัวเองมีรูปร่างตามแบบของผู้หญิงที่ “สมบูรณ์แบบ” ตามที่สื่อต่าง ๆ มักนำเสนอตลอดเวลา

Body Shaming ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันถูกนำเสนอมาโดยตลอดทางสื่อต่าง ๆ แต่ประเด็นเรื่องนี้เพิ่งได้รับการสนใจและพูดถึงมากขึ้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทและคนมีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งพยายามเปลี่ยนการเล่าเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของร่างกายผู้หญิง ยกตัวอย่างแบรนด์ชุดชั้นใน Aerie หรือ Savage x Fenty ที่มีนางแบบที่มีรูปร่างและสีผิวที่หลากหลาย พยายามทำลายกรอบแนวคิดเดิม ๆ ว่าผู้หญิงสวยได้ในแบบของตัวเอง โปรโมตทัศนคติเชิงบวกเรื่องความสวยงามในแบบของตัวเอง “Real Size Beauty” แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ของธุรกิจที่กำลังเติบโตตามแรงสนับสนุนจากสังคม

แต่มันก็เรื่องยากที่จะเปลี่ยนแนวคิดของสังคมส่วนใหญ่ ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ “สวย” ผอมบาง หรือผู้ชายที่ “หล่อเหลา” บึกบึน กล้ามใหญ่ มีซิกซ์แพ็ก นั้นเป็นสิ่งที่ลบได้ยาก ทำให้อะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือจากภาพเหล่านั้นดู “ไม่มีค่า” หรือ “ไม่คู่ควร” ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อมีละครบนทีวีหรือภาพยนตร์ คนที่น้ำหนักเยอะหรือคนอ้วนนั้นมักถูกนำเสนอในเชิงของ “เรื่องตลก” ถูกล้อเลียนบ้าง ดูถูกบ้าง กลายเป็นเสียงหัวเราะตลกโปกฮา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นการทำให้ประเด็นเรื่อง Body Shaming นั้นเลวร้ายลงไปอีก

วัยรุ่นทั้งผู้ชายและผู้หญิงนั้นต้องเผชิญหน้ากับคลื่นสึนามิของภาพลักษณ์ร่างกายที่ “สมบูรณ์แบบ” เต็มหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันแม้จะดูย้อนแย้ง โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่ประเด็นเรื่องนี้ถูกขับเคลื่อนและมีการปกป้องแนวคิดนี้อย่างมากเช่นกัน มีเหตุการณ์หนึ่งที่ ดานี เมเทอส์ (Dani Mathers) นางแบบสาวของนิตยสาร Playboy ได้โพสต์รูปเปลือยของหญิงชราที่กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องล็อกเกอร์ของยิมที่เธอไปบนโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นว่าเธอนั้นไปล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น Body Shaming หญิงชราคนนั้นจนต้องขึ้นศาล และถูกตัดสินว่าทำผิดจริงต้องโทษจำคุก 45 วันหรือต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งถ้าไม่ได้แรงขับเคลื่อนทางโซเชียลมีเดียที่พยายามชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เมเทอส์ทำนั้น “ไม่โอเค” เธอก็อาจจะยังไม่รู้ว่ามันเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้

Body Shaming ยังมีส่วนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติด้วย (Eating Disorders) จากรายงานของ Beat องค์กรการกุศลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในอังกฤษบอกว่ากว่า 65% ของคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ถูกล้อเลียนมาก่อน และกว่า 49% บอกว่าเริ่มโดนล้อตั้งแต่อายุ 10 ขวบเลยด้วยซ้ำ และผลกระทบของมันก็อยู่ไปจนล่วงเข้าวัย 40-50 ปีแล้ว ที่น่าตกใจก็คือว่ามีเพียง 22% เท่านั้นที่ตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาเกี่ยวกับเรื่องนี้

สำหรับเราทุกคนการตัดสินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอกอาจจะเกิดขึ้นได้ เรามีภาพของความสวยงามหรือความหล่อเหลาที่ฝังอยู่ในหัวและการจะเอาออกไปคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือเราต้องระมัดระวังความคิดเหล่านี้ คำพูดจา ล้อเลียน ล้อเล่น เสียดสี หรือ หยอกล้ออะไรก็ตามเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของอีกฝ่าย ไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำ ไม่ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม เพราะถ้าคิดในมุมกลับกันเรายังไม่อยากถูกทักแบบนั้นเหมือนกัน

ในส่วนของตัวเราเองก็ควรจะพยายามลบค่านิยมและค่ามาตรฐานของความสวยงามแบบผิด ๆ ออกไป มองข้ามสิ่งเหล่านั้นและปล่อยความกดดัน ความรู้สึกเกลียดและไม่พอใจในตัวเองเหล่านั้นทิ้งไป อย่าไปอยู่ในกรอบที่คนอื่นวาดขึ้น และอย่าตีกรอบให้ตัวเราเองอยู่ เราไม่ควรไป Body Shaming คนอื่น และกลับกันก็ไม่ควรให้ใครมา Body Shaming ตัวคุณด้วย ไม่ว่าจะจากสังคมหรือจากเสียงภายในตัวคุณเอง

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส