สายสัมพันธ์ไทยกับมาเลเซียไม่เคยราบรื่นเลย มีปัญหาคาราคาซังมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความร่วมมือทวิภาคียังย่ำอยู่กับที่ รวมทั้งวงเงินการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศนี้ที่ก็น่าจะดีและสูงมากกว่านี้ ในระดับประชาชนต่อประชาชนยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เพราะไม่มีความใกล้ชิดในระดับชาวบ้าน ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธยังมีความระแวงซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี ในอนาคตมิตรภาพไทยกับมาเลเซียอาจจะพัฒนาไปทางที่ดีขึ้นก็ได้ เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ได้ออกแนวนโยบายต่างประเทศขึ้นมาใหม่เพื่อรับมือสถานการณ์โลกหลังโรคระบาดโควิด นับว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ออกนโยบายต่างประเทศในลักษณะนี้ โดยให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในกรอบพหุภาคี

มี 7 ประเด็นสำคัญในการทูตใหม่มาเลเซียคือ

  1. ต้องเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับประชาคมโลกในทุกแพลตฟอร์มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
  2. พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและจัดการเรื่องวัคซีนในห่วงโซ่อุปทานนานาชาติ
  3. ต้องพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะเป็นพลังสำคัญหนึ่งในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  4. ต้องมีส่วนรวมในการกำหนดกฏหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
  5. ส่งเสริมการทูตวัฒนธรรมมาเลเซียในเวทีโลกเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ของประเทศรวมทั้งการพัฒนาตลาดส่งออกของสินค้าวัฒนธรรม
  6. ส่งเสริมการอยู่รวมกันอย่างสันติ ระหว่างประเทศและศาสนาที่หลากหลาย ปกป้องรักษาความร่วมมือพหุภาคี เพราะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
  7. ประเด็นสุดท้ายคือต้องบรรลุเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่านโยบายนี้มีแนวโน้มที่มีความเป็นสากลมาขึ้น ช่วงหลังมาเลเซียมีวิกฤตการเมืองภายในมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จึงไม่แปลกที่รัฐบาลชุดนี้จะชิงออกนโยบายต่างประเทศออกมาก่อนเพื่อแสดงตัวตน เพราะการเมืองภายในยังไม่เสถียร อาจจะอยู่ได้ไม่นาน ที่น่าแปลกใจในการทูตใหม่มาเลเซียคือไม่มีการกล่าวถึงความสำคัญของอาเซียนเลยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกัน มาเลเซียมีปัญหาทวิภาคีมากมายกับไทย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์

ในวงการทูตเป็นที่รู้กันว่า มาเลเซียต้องการส่งเสริมบทบาทตัวเองในเวทีโลกมุสลิมเพื่อแข่งกับอินโดนีเซียและตุรกีในฐานะที่เป็นประเทศมุสลิมสายกลางที่ความเป็นประชาธิปไตย มาเลเซียมักจะมีท่าทีและจุดยืนที่ค่อนข้างแข็งขันในการปกป้องชาวโรฮิงญา ปัญหาการย้ายถิ่นและแรงงานข้ามชาติ

แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับแบไต๋ว่า นายกรัฐมนตรีซาบรีมีกำหนดการมาเยือนไทยวันที่ 28 ถึง 30 ธันวาคมนี้ รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้เปิดอกกับมาเลเซีย ฝ่ายไทยต้องจี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความมั่นคงมาเลเซียว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่เสแสร้งทำอย่างที่เคยทำมาตลอด 

มาเลเซียเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่ปลดล็อกการเมืองทั้งด้านอัตลักษณ์และภาษา เนื่องจากคนสองสัญชาติใน 3 จังหวัดภาคใต้ก่อเหตุไม่สงบตลอดเวลาที่ผ่านมา มักจะหนีซ่อนตัวในฝั่งมาเลเซีย สมัยก่อนช่วงที่สัมพันธ์ทั้งสองประเทศดีมาก ๆ ทางการมาเลเซียมีการส่งกลับผู้ต้องสงสัยให้ฝ่ายไทยสอบ

ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้แก้ไขได้ ถ้ามาเลเซียจริงใจร่วมมือ ในขณะเดียวกันหน่วยงานความมั่นคงของไทยต้องทำงานประสานงานกันประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาข้อยุติที่เป็นบูรณาการ ที่ผ่านมายังหน่วยงานรัฐยังทำงานเป็น “ศิลปินเดี่ยว” ต่างฝ่ายต่างทำ อยู่กับพวกตัวเอง ฉะนั้นฝ่ายไทยต้องพร้อม สามัคคีและหนักแน่นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยเอาจริง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส