วันที่ 24 มกราคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมเปิดตัว dStatement (Digital Bank Statement) บริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) ในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน โดยในระยะแรกของการให้บริการ dStatement จะเริ่มใช้สำหรับการสมัครขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และมีธนาคารที่เปิดให้บริการ dStatement ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 6 ธนาคาร และจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 5 ธนาคาร ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

dStatement คืออะไร

บริการ dStatement หรือ Digital Bank Statement คือบริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน โดยผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน สามารถขอให้ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ ส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง Mobile Banking หรือช่องทางอื่น ๆ ตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด

บริการ dStatement จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการจากเดิมที่ต้องเดินทางไปยังสาขาของธนาคารเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบเอกสารกระดาษ

เปรียบเทียบบริการ dStatement

ขั้นตอนการใช้บริการ dStatement

  1. ลูกค้าสมัครขอสินเชื่อผ่าน Mobile Banking ของธนาคาร B
  2. ลูกค้าเลือกธนาคาร A ที่ตนมีบัญชีเงินฝากอยู่ เป็นผู้ส่ง dStatement (เลือกได้สูงสุด 3 ธนาคาร)
  3. ลูกค้าได้รับการแจ้งเตือนผ่าน Mobile Banking ของธนาคาร A
  4. ลูกค้าเลือกบัญชีเงินฝากของธนาคาร A ที่ต้องการให้ส่งข้อมูล (เลือกได้สูงสุด 5 บัญชี)
  5. ลูกค้าตรวจสอบความถูกต้อง กดยืนยัน และชำระค่าธรรมเนียม

หลังจากจบกระบวนการข้างต้น ธนาคาร A จะจัดส่ง dStatement ให้กับธนาคาร B โดยหลังจากนี้ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะการขอสินเชื่อผ่าน Mobile Banking ของธนาคาร B ได้เลย หากใครยังสับสนกับขั้นตอนการใช้บริการ dStatement สามารถดูภาพประกอบในสไลด์นี้ หรือวิดีโอสาธิตจากธปท. ได้เลย (คลิก)

  • ขั้นตอนการขอ dStatement
  • ขั้นตอนการขอ dStatement
  • ขั้นตอนการขอ dStatement
  • ขั้นตอนการขอ dStatement

ใครสามารถใช้บริการ dStatement ได้บ้าง

  • บุคคลธรรมดาที่มีบัญชีเงินฝากประเภท ‘บัญชีเงินฝากออมทรัพย์’ หรือ ‘บัญชีกระแสรายวัน’ อยู่กับธนาคารขาส่ง ทั้งนี้ สำหรับบัญชีประเภทอื่นจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่
  • มี Mobile Banking ของธนาคารขาส่งที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ และพร้อมใช้งาน

ธนาคารไหนให้บริการ dStatement บ้าง

ปัจจุบัน บริการ dStatement ยังไม่ครอบคลุมทุกธนาคาร โดย ณ วันที่ 24 มกราคมนี้ มีธนาคารที่เปิดให้บริการ dStatement แล้วจำนวน 6 ธนาคาร และจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 5 ธนาคาร ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

dStatement

สำหรับค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ธนาคารผู้ส่ง dStatement แต่ละแห่งสามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมได้เอง โดยมีเพดานสูงสุดอยู่ 75 บาท ส่วนธนาคารที่รับข้อมูลจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม dStatement จากลูกค้า

ค่าธรรมเนียม dStatement

เวลาทำการ

บริการ dStatement แม้จะเป็นบริการผ่านระบบดิจิทัล 100% แต่ก็มีเวลาทำการ ซึ่งแต่ละธนาคารที่ให้บริการ dStatement มีเวลาทำการดังตารางต่อไปนี้

เวลาทำการ dStatement

ทั้งนี้ การให้บริการ dStatement ถือเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน” ซึ่งธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายจากสถาบันการเงินแห่งอื่น ๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของตนเองยิ่งขึ้น และถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับบริการทางการเงินสู่บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ