วันที่ 2 มีนาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทวิเคราะห์​สถานการณ์ระหว่าง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ โดยชี้ให้เห็นถึงความปั่นป่วนอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับระบบการเงินของรัสเซีย หลังมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ เช่น การแช่แข็งสินทรัพย์ต่างประเทศของรัสเซีย (โดยเฉพาะทุนสำรองระหว่างประเทศ) รวมถึงการประกาศตัดธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียบางแห่งออกระบบ SWIFT (ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ)

โดยภาวะการขาดสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโร รวมถึงสกุลเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สวนทางเงินรูเบิลที่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ธนาคารกลางและทางการรัสเซียต้องประกาศหลายมาตรการเพื่อจำกัดความเสี่ยงของตลาดและระบบการเงินในภาพรวม อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวกว่าเท่าตัว (จากระดับ 9.5% ไปที่ 20%) และออกคำสั่งให้ผู้ส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในธุรกิจพลังงานนำ 80% ของรายได้ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศออกมาขาย เพราะธนาคารกลางรัสเซียไม่สามารถนำทุนสำรองฯ มาแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินรูเบิลได้

รัสเซีย ยูเครน ดอลลาร์ ยูโร
Photo created by 8photo / Freepik

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อจำกัดการไหลออกของเงินทุนด้วย อาทิ การห้ามบริษัทหลักทรัพย์รับคำสั่งขายสินทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุนขาออก โดยห้ามปล่อยกู้และโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศให้กับชาวรัสเซีย

อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่อาจซื้อเวลาเพื่อช่วยประคองสถานการณ์เงินรูเบิลได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และยังมีโอกาสที่จะเห็นระดับอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของเงินรูเบิลในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

ย้อนกลับมาที่ค่าเงินบาทของไทย คงต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่จะผันผวนและมีแรงกดดันในด้านอ่อนค่ามากขึ้น ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงในยามที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและอาจเพิ่มระดับความเสี่ยงขึ้นได้อีกในอนาคต

ทั้งนี้ แม้การค้าระหว่างไทยและรัสเซีย (ส่งออก+นำเข้า) จะมีสัดส่วนเพียง 0.52% ของมูลค่าการค้าโดยรวมทั้งประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าประเด็นที่ต้องเน้นย้ำและใช้ความระมัดระวังมากขึ้น คือ ความเสี่ยงจากคู่ค้าและความเสี่ยงจากระบบปฏิบัติการ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความล่าช้าในกระบวนการชำระเงิน ซึ่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินของไทยต้องเตรียมรับมือ โดยในช่วงหลังจากนี้ คงต้องรอติดตามว่าการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จะออกมาในลักษณะและมีเงื่อนไขแบบใด อาทิ

1. มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT เฉพาะสถาบันการเงินบางแห่งในรัสเซีย หรือจำกัดเฉพาะการทำธุรกรรมในบางสกุลเงิน สถาบันการเงินในไทยก็จะยังคงสามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินรัสเซียที่ยังอยู่ในระบบ SWIFT หรือปรับเป็นการทำธุรกรรมในสกุลเงินอื่น ๆ ได้ เพื่อให้บริการลูกค้าต่อได้

2. มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT กับสถาบันการเงินในรัสเซียทั้งหมด ก็จะทำให้ต้องหาทางเลือกการโอนเงินผ่านระบบอื่น ๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินในไทยเป็นสมาชิกของระบบอื่นหรือไม่ และจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในกระบวนการทำธุรกรรมด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่งและยังไม่สามารถประเมินทางออกของเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น คาดว่า นักลงทุนคงกลับมาประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะอียูมีความเชื่อมโยงในภาคการเงินกับรัสเซียสูง โดยเฉพาะในภาคธนาคาร

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2564 จากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ สะท้อนว่า ธนาคารของประเทศสมาชิกอียูที่มีสิทธิเรียกร้อง (Claims) จากคู่สัญญาในรัสเซียรวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 83,840 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.7 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 69% ของสิทธิเรียกร้องของธนาคารต่างประเทศทั้งหมด โดยหลัก ๆ แล้วเป็นธนาคารในอิตาลี (20.8%) ฝรั่งเศส (20.7%) และออสเตรีย (14.4%) ตามลำดับ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรตกลงที่จะตัดธนาคารรัสเซียส่วนหนึ่งออกจากระบบ SWIFT เพื่อจำกัดความสามารถของรัสเซียในการเข้าถึงทุนสำรองในต่างประเทศ ส่วนสาเหตุที่เลือกตัดความสัมพันธ์บางส่วนนั้น เนื่องจากป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับยุโรปมากนัก ทำให้ธุรกิจในยุโรปยังคงสามารถเก็บเงินและซื้อพลังงานจากรัสเซียได้ต่อไป (อ่านเพิ่ม : ชาติตะวันตกแบนธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT)

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย