ในสัปดาห์เดียวกันตอนรัสเซียบุกเข้ายูเครน 2 ประเทศเล็ก ๆ คือ เปรู และ รวันดา ได้ผลักดันข้อเสนอร่างสนธิสัญญาที่มีข้อผูกมัดระหว่างประเทศในการขจัดและลดขยะผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วโลกให้ลดน้อยลง มิฉะนั้นขยะพลาสติกที่ไม่ได้ย่อยสลายมากถึง 70 ล้านตันจะกลายเป็นอาวุธมหาประลัยที่จะทำลายห่วงโซ่อาหารและสภาพสิ่งแวดล้อมของคนทั้งโลก มีพลังทำลายชีวิตมากกว่าอาวุธมหาประลัยทุกชนิดเสียอีก

ขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลเลวร้ายต่อสภาพสิ่งแวดล้อมของคน สัตว์บก และสัตว์น้ำ ฉะนั้นที่ประชุมสมัชชาย่อยในสหประชาชาติที่กรุงไนโรบีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ภายในปีนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสากลขึ้นมาร่างสนธิสัญญาที่จะขจัดและลดจำนวนขยะผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วโลก ในปัจจุบันขยะพลาสติกทุกรูปแบบนั้นไม่ได้หายไปไหน เพราะมันถูกทิ้งขว้างและสุดท้ายไปตกค้างอยู่ในมหาสมุทรและตามแม่น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก

ที่น่าสนใจคือข้อเสนอญี่ปุ่นในทำนองเดียวกัน แต่ถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็ว เพราะญี่ปุ่นมุ่งเน้นแต่กำจัดขยะในมหาสมุทรเท่านั้น ส่วนข้อเสนอเปรูกับรวันดานั้นครอบคลุมขยะพลาสติกทุกชนิดทุกรูปแบบ รวมทั้งไมโครพลาสติกด้วย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

มีการคาดการณ์สนธิสัญญาแบนขยะพลาสติกนี้จะร่างเสร็จภายในปี 2024 ก็จะถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2015 องค์การสหประชาชาติประสบความสำเร็จที่สมาชิกยอมเซ็นและรับรองข้อตกลงที่จะลดภาวะโลกร้อน

ช่วงหลังมีปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจในเวทีองค์การสหประชาชาติคือ สมาชิกประเทศเล็ก ๆ ในเวทีสากลได้นำเสนอความคิดใหม่ ๆ ที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น ไม่เหมือนกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติห้ายักษ์ใหญ่คือ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน มักจะเถียงกันและวีโต้ซึ่งกันและกัน ในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น กรณีรัสเซียบุกยูเครนก็ตกลงกันไม่ได้ เป็นต้น

ในเรื่องกำจัดขยะพลาสติกรวมทั้งการกำจัดขยะทะเลไทยมีบทบาทสูง ในช่วงที่เป็นประธานอาเซียนปี 2019 ก็ได้ผลักดันให้สมาชิกอาเซียนสนันสนุนข้อตกลงกำจัดขยะทะเลซึ่งทางญี่ปุ่นเป็นโต้โผใหญ่ ตามรายการที่รัฐบาลไทยได้เสนอต่อองค์การสหประชาติในปีเดียวกันในเรื่องนี้ ระบุว่าขยะพลาสติกที่พบในทะเลส่วนมากมีที่มาจากบนบก โดยเกิดจากการบริหารจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการกำจัดขยะพลาสติกยังทำได้ไม่ดีพอ

นอกจากนี้ ปี 2016 มีตัวเลขระบุว่า ไทยได้ปล่อยขยะถึง 2.83 ล้านตันลงสู่ทะเล ในจำนวนนี้ร้อยละ 12 เป็นพลาสติก ทางรัฐบาลไทยรู้ตัวดีได้ริเริ่มแผน 20 ปี เพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อลดจำนวนพลาสติกในทะเล รวมถึงส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนพลาสติก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส