นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ประกาศเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) ว่าประกาศดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง ต้องมีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคี 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมกันพิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบ ก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ในปี 2565 นี้ คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ม.33 เรารักกัน, โครงการคนละครึ่ง, การเยียวยากรณีถูกหยุดงานจากมาตรการของรัฐ, การลดเงินสมทบประกันสังคม, การเยียวยาอาชีพอิสระคนกลางคืน และการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ลูกจ้างเกือบ 5,000,000 คน ทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ต้องตกงาน

นายสุชาติยังกล่าวอีกด้วยว่า ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และสูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนหลายประเทศเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อบวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัด ถ้าจะขึ้น 40% 30% เชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และค่าแรงของคนงานไทยส่วนมากที่มีทักษะความสามารถจะได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าบาทเป็น 400 กว่าบาท เชื่อว่าคงไม่มีบริษัทใดอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์