คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอนุกรมวิธานใหม่ของไดโนเสาร์หุ้มเกราะ (Thyreophora) หรือไดโนเสาร์ที่มีหนามแหลมบนตัว ซึ่งเคยมีชีวิตในยุคจูราสสิกตอนต้น (Early Jurassic) ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทีมวิจัยสัตว์มีกระดูกสันหลังจากคณะชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูนนาน กล่าวว่าการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชีววิทยาอีไลฟ์ (eLife) โดยอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการวิจัยโครงกระดูกบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกะโหลกศีรษะ แกน ขา และองค์ประกอบของเกราะหุ้ม

นักวิทย์จีนค้นพบฟอสซิล ‘ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ’ ยุคจูราสสิกตอนต้น
ฟอสซิลไดโนเสาร์ยาว 27 เมตร สูง 6.5 เมตร ที่หุบเขาไดโนเสาร์โลก ในอำเภอลู่เฟิง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

รายงานวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อนุกรมวิธานใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า อวี้ซีซอรัส คอปชิกกี (Yuxisaurus kopchicki) ระบุขึ้นโดยอ้างอิงจากลักษณะเฉพาะจำนวนมาก (Autapomorphies) บริเวณกระดูกส่วนกะโหลกศีรษะ และส่วนถัดจากกะโหลกศีรษะลงไป ซึ่งแตกต่างจากไดโนเสาร์หุ้มเกราะอื่น ๆ เพราะมีการผสานการเปลี่ยนแปลงลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์

โดยทั่วไปเชื่อกันว่า ไดโนเสาร์หุ้มเกราะมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคจูราสสิกตอนปลาย (Late Jurassic) เมื่อ 150 ล้านปีก่อน

ทั้งนี้ ปี้ซุ่นตง ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยนี้ ระบุว่าฟอสซิลของไดโนเสาร์ข้างต้นถูกพบครั้งแรกที่หมู่บ้านเจี่ยวเจียเตี้ยน ของเมืองอวี้ซี โดยฝังอยู่ในชั้นหินยุคจูราสสิกตอนต้น (Lower Jurassic) เมื่อ 190 ล้านปีก่อน และเป็นไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเอเชียเท่าที่เคยพบมา

ที่มา : ซินหัว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส