ในโลกของเทคโนโลยี การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสักอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเราจะนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรม’ เปลี่ยนโลกอย่างเช่น หลอดไฟ, รถยนต์, คอมพิวเตอร์ส่วนตัว, แล็บท็อป, กล้องดิจิทัล, อินเทอร์เน็ต, อี-คอมเมอร์ซ หรือไอโฟน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะ Disrupt ธุรกิจที่เคยมีมาอยู่ก่อนหน้านี้ให้เปลี่ยนแปลงและปรับตัว การเป็น ‘First Mover’ หรือคนแรกของวงการถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เรานำหน้าคู่แข่งในตลาดไปได้ก่อน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเป็นคนแรกนั้นอาจจะนำชื่อเสียงมาให้ในเชิงของคนที่กล้าและท้าทายสิ่งที่เคยมีอยู่ แต่มันไม่ได้การันตีความสำเร็จหรือผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีสักเท่าไหร่ (เรารู้ดีว่าการทำสตาร์ตอัปหรือธุรกิจนั้นมีโอกาสล้มสูงมาก) แต่การรอดูว่าตลาดจะตอบสนองต่อธุรกิจหรือไอเดียใหม่ ๆ เหล่านั้นยังไง แล้วค่อยขยับตัวเพื่อลงทุนตามผู้นำไปยังพื้นที่ตลาดอื่น ๆ นั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวร้ายนัก บางบริษัทอาจจะเอาไอเดียพื้นฐานแล้วไปปรับเพิ่มเติมและขยายต่อไป แต่สำหรับ The Samwer Brothers สามพี่น้องตระกูลแซมเวอร์ที่คิดต่างออกไป ไม่เห็นต้องปรับอะไร เอาง่าย ๆ ก๊อบปี้ไปเลยทั้งดุ้น ใส่ในตลาดใหม่ แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ขยายต่อหรือไม่ก็รอให้คนมาซื้อ ถือว่าสำเร็จแล้ว

พวกเขาไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว หรือสองครั้ง แต่หลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาก็อบโมเดลธุรกิจไป สร้างเป็นแบรนด์ใหม่ ในพื้นที่ตลาดใหม่ รอขยายและรอขาย ซึ่งกลายเป็นเทคนิคประจำตัวที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้หลายพันล้าน ก่อตั้ง Startup Incubator ชื่อ ‘Rocket Internet’ ในปี 2007 จนได้รับฉายาว่า ‘Clone Kings’ ราชาแห่งการลอกเลียนแบบ ที่รายงานจาก Forbes ประเมินว่าทรัพย์สินส่วนตัวของพวกเขามีมูลค่าราวคนละ 37,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ธุรกิจที่เราน่าจะรู้จักกันดีอย่าง Lazada หรือ Food Panda ก็มาจากพวกเขา แต่ถึงแม้ว่ามันจะสร้างรายได้มากขนาดไหน หลายคนก็มองว่ามันเป็นรูปแบบของการทำธุรกิจที่ไร้ยางอาย เจสัน คาลาคานิส (Jason Calacanis) นักธุรกิจและผู้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องถึงขั้นเรียกพวกเขาว่า “Despicable Samwer Brothers” หรือ “พี่น้องแซมเวอร์ผู้ชั่วช้า” เลยทีเดียว

สามพี่น้องแซมเวอร์ชาวเยอรมัน อเล็กซานเดอร์, โอลิเวอร์ และมาร์ก (Alexander, Oliver, Marc) ถือกำเนิดในครอบครัวที่มีความเป็นอยู่ที่ดีและเพียบพร้อม ซิกมาร์-เจอร์เกน โคโลญ แซมเวอร์ (Sigmar-Jürgen Cologne Samwer) ผู้เป็นพ่อนั้นเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในเมืองโคโลญ เคยเป็นทนายของคาร์ล คาร์สเทินส์ (Karl Carstens) อดีตประธานาธิบดีเยอรมนี ส่วนคุณแม่ก็ทำงานด้านกฎหมายเช่นเดียวกัน สามพี่น้องมีพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกันจากคนละมหาวิทยาลัย อเล็กซานเดอร์น้องคนเล็กจบบริหารธุรกิจจาก Harvard School of Business คนกลางโอลิเวอร์จบด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธุรกิจที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี WHU และพี่ชายคนโตจบปริญญาโทด้านกฎหมายจาก University of Cologne โดยทั้งสามคนชื่นชอบเทคโนโลยีและอยากเป็นนักธุรกิจกันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

ในปี 1998 ระหว่างที่พี่น้องทั้งสามคนอาศัยอยู่ที่ซานฟรานซิสโกและกำลังสนใจเกี่ยวกับธุรกิจต่าง ๆ ที่กำลังโผล่ขึ้นมายุบยับในซิลิคอนวัลเลย์ตอนนั้น โอลิเวอร์ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่เขาพบเจอมาจนถึงขั้นร่วมกับเพื่อนเขียนหนังสือ ‘America’s Most Successful Startups’ ขึ้นมา (ตอนนี้ยังมีขายบน Amazon) และก็พบว่ามีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตอย่างมากนั้นก็คือ eBay เพราะคนเริ่มซื้อขายของบนเว็บไซต์นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสามคนรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์ของเว็บไซต์ประมูลแห่งนี้เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากและอยากสร้างอีกเวอร์ชันหนึ่งขึ้นมาที่เยอรมนี ความคิดนั้นเกิดขึ้นในช่วงคริสต์มาส และไม่ถึงเดือนต่อมาทุกอย่างก็เริ่มต้นขึ้นในเยอรมนี

ในบทความที่สามพี่น้องให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้บนเว็บไซต์ Wired ในภายหลังบอกว่าพวกเขาพยายามที่จะส่งอีเมลไปหา eBay หลายต่อหลายครั้งเพื่อให้พวกเขาเปิดเวอร์ชันเยอรมันแล้วให้พี่น้องทั้งสามคนเป็นคนดูแลตรงพื้นที่ส่วนนั้นให้ เมื่อ eBay เงียบ และพวกเขารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีก็เลยลงมือทำขึ้นมาเอง นั้นคือจุดเริ่มต้นของ Alando เว็บไซต์ประมูลที่ถอดแบบออกมาจาก eBay ในวันที่ 1 มีนาคม 1999

2 เดือนกว่าผ่านไป วันที่ 17 พฤษภาคม โกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ติดต่อมาบอกว่า eBay สนใจในตัว Alando และอยากคุยเรื่องเข้าซื้อกิจการของพวกเขา ไม่ถึง 2 อาทิตย์ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม รายละเอียดทุกอย่างถูกวางบนโต๊ะเรียบร้อย eBay เข้าซื้อ Alando ด้วยเงินถึง 43 ล้านเหรียญ (ราว 1,400 ล้านบาท)

น่าทึ่งมากสำหรับสตาร์ตอัปที่อายุยังไม่ถึง 100 วันด้วยซ้ำ

พวกเขาทำงานที่ eBay อีกประมาณหนึ่งปีก่อนที่จะออกมาหาโอกาสครั้งใหม่ในการทำธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง ความสำเร็จในครั้งแรกนั้นทำให้พวกเขามีแต้มต่อในการทำสตาร์ตอัปอันต่อไปด้วย แม้บางคนจะบอกว่าการก๊อบปี้ eBay เป็นเรื่องที่น่าอายและเป็นเพียงวิธีการหาเงินง่าย ๆ ด้วยการขโมยไอเดียคนอื่นมา แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเว็บไซต์อีกสิบกว่าแห่งก็พยายามก๊อบ eBay เหมือนกันในเยอรมนี แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาทำได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ

นี่กลายเป็นสูตรสำเร็จของสามพี่น้องแซมเวอร์ หลังจากออกมาจาก eBay พวกเขาก็สร้างบริษัทใหม่อีกครั้งชื่อว่า Jamba! ในปี 2000 ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการโหลดคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่นเกม หรือ ริงโทน ลงบนมือถือ ซึ่งเป็นการก๊อบรูปแบบของบริษัท VeriSign จากอเมริกา 4 ปีต่อมา Jamba! ก็ถูกซื้อด้วยเงินกว่า 273 ล้านเหรียญ (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) ต่อมาในปี 2005 พวกเขาได้ร่วมลงทุนในโซเชียลมีเดียชื่อ StudiVZ ที่ย่อมาจาก ‘Studentenverzeichnis’ แปลว่า “สมุดรายชื่อของนักเรียน” และก็คงเดาไม่ยากว่านี่คือธุรกิจก๊อบปี้ของ Facebook นั้นเอง ซึ่งต่อมาก็ขายให้นักลงทุนอีกแห่งหนึ่งไปด้วยเงินราว 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท)

แพตเทิร์นเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้สามพี่น้องรู้แล้วว่าความเชี่ยวชาญของพวกเขาคือ “Execution” หรือการลงมือทำ ปั้นธุรกิจให้เกิดขึ้น ไม่ว่าไอเดียจะเป็นการก๊อปมาหรือไม่ก็ตาม ในปี 2007 สามพี่น้องแซมเวอร์สร้าง Incubator หรือบริษัทบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า ‘Rocket Internet’ ที่จะนำเอาโมเดลของธุรกิจที่กำลังดำเนินไปด้วยดีในอเมริกา โดยเฉพาะจากซิลิคอนวัลเลย์ แล้วนำเอาไอเดียจากธุรกิจเหล่านี้มาพัฒนาหรือลงทุนในสตาร์ตอัปต่อในตลาดที่ยังไม่มีผู้ชนะหรือเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดนั่นเอง Rocket Internet มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “Clone Factory” ซึ่งก็คงไม่ได้ห่างไกลจากความจริงเท่าไหร่นัก

Zalando ก๊อบปี้ Zappos
MyVideo ก๊อบปี้ YouTube
Frazr ก๊อบปี้ Twitter
DailyDeal ก๊อบปี้ Groupon
Lazada ก๊อบปี้ Amazon
eDarling ก๊อบปี้ eHarmony
Delivery Hero (บริษัทแม่ของ Food Panda) / Easy Taxi ก๊อบปี้ Uber
BillPay ก๊อบปี้ PayPal

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายธุรกิจที่พวกเขาก๊อบปี้มาบางทีก็ล้มได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง Wimdu ที่เป็นตัวก๊อบปี้ของ Airbnb ซึ่งพวกเขาก็ทำเหมือนเดิมในปี 2011 พยายามขยายให้โตขึ้นเพื่อให้ Airbnb สังเกตเห็นและรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามอยู่ เหมือนอย่าง Alando หรือ DailyDeal แล้วต้องเข้ามาเจรจาขอซื้อ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ไบรอัน เชสกี (Brian Chesky) ซีอีโอของ Airbnb รู้สูตรลับของสามพี่น้องเป็นอย่างดีว่าพวกเขาก๊อบปี้มาเพื่อขายเท่านั้น ไม่ได้อยากจะทำให้มันโตขึ้นหรือดูแลธุรกิจนี้จริง ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องทำก็แค่รอวันที่พวกเขาจะอ่อนแรงไปเอง Airbnb ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ดูแลลูกค้าและพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองต่อไปเท่านั้น และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น สุดท้าย Rocket Internet ก็ต้องยอมยกธงและปิดตัวก๊อบปี้ทิ้งไป

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของพวกเขาบอกว่า Rocket Internet ได้ช่วยทำให้ธุรกิจกว่า 200 แห่งเร่ิมต้นขึ้นและกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้ และเข้าตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี มาตั้งแต่ปี 2014 ผลประกอบการแม้จะดีขึ้นตามลำดับแต่ก็ต้องมาสะดุดในปีก่อนเพราะสตาร์ตอัปหลายแห่งเจอผลกระทบจากโรคระบาด และมูลค่าบริษัทปรับตัวลดลงกว่า 60% และเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพวกเขาก็ตัดสินใจนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์และกลับคืนสู่สถานภาพเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้การลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปนั้นคล่องตัวมากขึ้น

เรื่องราวของสามพี่น้องแซมเวอร์นั้นกลายเป็นประเด็นคำถามที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากในวงการสตาร์ตอัปและผู้ทำธุรกิจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ หลายคนบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นวิธีการที่มักง่าย เหมือนลอกงานคนอื่นแล้วเอาไปทำสร้างรายได้ให้กับตัวเอง แต่หลายคนก็บอกว่ามันไม่จำเป็นหรอกว่าไอเดียนั้นจะมาจากไหน จะเป็นคนแรกที่คิดออกหรือไม่ คุณค่าของมันอยู่ที่การลงมือทำต่างหาก เพราะถึงแม้คิดแล้วไม่ทำมันก็ไม่เกิดเป็นผลอยู่ดี ดูอย่าง Facebook, Grab หรือ Alibaba หรือแม้แต่ Line ก็ไม่ใช่เจ้าแรกของธุรกิจ มีเจ้าอื่นมาก่อนทั้งนั้น แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่ในกรณีของพี่น้องแซมเวอร์นั้นมันเป็นรูปแบบที่ชัดเจนกว่า ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ๆ

บางคนอาจจะมีไอเดียใหม่แล้วเป็น First Mover คนแรกของตลาดและก็พัฒนาต่อ หรือดึงไอเดียของที่อื่นมาแล้วปรับให้ดีขึ้น หรือแม้แต่การเอาไอเดียมาทำแล้วขยายไปยังตลาดที่ไม่มีใครทำและพร้อมที่จะขายเมื่อได้โอกาส เพราะฉะนั้นถ้าจะมองว่ามันคือโลกของธุรกิจ และแต่ละคนก็เชี่ยวชาญในแบบของตัวเองก็อาจจะไม่มากผิดนัก

ในบทสัมภาษณ์ของ Wired โอลิเวอร์กล่าวว่า “ความได้เปรียบของผมไม่เคยเป็นเพราะผมเป็นคนแรก ไม่ใช่เลย ข้อได้เปรียบของผมคือเราสร้างได้เร็วและดีกว่า คนอื่น ๆ ในหลาย ๆ ครั้ง เราเป็นบริษัทผู้สร้าง เราไม่ใช่นวัตกร คนอื่นอาจจะเป็นสถาปนิกออกแบบ เราคือคนที่ลงมือก่อสร้างให้เป็นรูปเป็นร่าง”

ถ้าจะบอกว่าพวกเขาลอกไอเดียคนอื่นมาก็คงไม่ผิดนัก แต่ถ้าจะบอกว่าพวกเขาไม่ทำอะไรเลย ได้แต่ลอกไอเดียคนอื่น เราคงพูดได้เต็มปากว่านั้นไม่ใช่ความจริง

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
อ้างอิง 10 อ้างอิง 11

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส