ชายตัวเล็ก ๆ ใส่แว่นนั่งอยู่บนรถเข็น คอเอียงไปด้านหนึ่ง มือสองข้างไขว้กันไว้เพื่อบังคับรีโมตคอนโทรล คือภาพที่คุ้นเคยกันดีของ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ใกล้เคียงกับนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ในเชิงของความเฉลียวฉลาด เขาเป็นนักคิดระดับแนวหน้าในกลศาสตร์ควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และการศึกษาเกี่ยวกับหลุมดำ งานวิจัยและแนวคิดของเขาได้เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอวกาศและเวลาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

เขาเกิดวันที่ 8 มกราคม 1942 และเสียชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม 2018 ชีวิตของเขาเผชิญปัญหาทางร่างกายจากโรค ALS ที่ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นมาตลอดตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ร่างกายของเขาอาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่สมองของเขายังทำงานเป็นปกติ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะต้องนั่งรถเข็น เขาก็ยังพยายามสร้างสรรค์ผลงานวิจัยใหม่ ๆ ตลอดที่เขายังมีชีวิตอยู่

ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป หลายประเด็นที่เขาได้พูดถึงเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติที่น่าสนใจ มีคนหยิบมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ตลอดว่ามันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดย 2 เรื่องที่เขาพูดถึงหนักเลยคือเรื่องของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และอย่างที่ 2 คือการพัฒนาของแมชชีนที่จะกลายเป็นสิ่งที่กลับมาทำลายมนุษย์ในภายหลัง

วิกฤตการณ์เกี่ยวกับจำนวนประชากรที่มากเกินไปนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในตอนนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ บอกว่าภายในปี 2040 อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกในระยะยาวตามความตกลงปารีส ไม่ว่ายังไงก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และภายในปี 2150 จะเพิ่มขึ้นอีก 5 เมตร

การเผาผลาญทรัพยากรทางธรรมชาติและมลภาวะทางอากาศจะยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อจำนวนประชากรโลกนั้นเพิ่มขึ้น ฮอว์คิงเชื่อว่าโลกของเราจะเล็กจนเกินไปที่จะรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณและการใช้ชีวิตในรูปแบบปัจจุบัน ภายในศตวรรษที่ผ่านมาเราเห็นจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จนตอนนี้เกือบ 8 พันล้านคนแล้วในปี 2021 และถ้าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามอัตราเดิม สุดท้ายโลกของเราก็จะไม่สามารถรองรับประชากรทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และนั่นก็หมายความว่าเราต้องใช้ทรัพยากรโลกเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมาเท่าตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป โลกก็จะไม่สามารถเป็นบ้านของทุกคนได้อีกต่อไป

นั่นจึงเป็นจุดที่ฮอว์คิงคาดคิดว่าถ้าโลกอยู่ไม่ได้หรือรองรับมนุษย์ทุกคนไม่ได้ขึ้นมา สิ่งที่ต้องทำคือการย้ายบ้าน ซึ่งในที่นี้เขาก็หมายถึงการย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่โลก ไปครองดาวอื่น ๆ และอาศัยอยู่ที่นั่น แน่นอนว่ามันฟังดูเป็นหนังไซไฟมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ในมุมหนึ่งถ้าวันหนึ่งโลกอยู่ไม่ได้ขึ้นมา ทั้งทรัพยากรหมดโลก อากาศร้อนเกินกว่าที่ชีวิตจะอยู่รอดได้ ทางเลือกก็มีอยู่แค่ไม่กี่อย่างระหว่างเลือกสูญพันธ์ไปกับโลกที่ไม่สามารถรองรับการใช้ชีวิตอยู่ของมนุษย์ได้แล้ว หรือลองเสี่ยงหาโลกใบที่ 2 บ้านอีกหลังเพื่อตั้งรกรากใหม่อีกครั้ง

ส่วนตัวของฮอว์คิงมีการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการเดินทางอวกาศอยู่เสมอ ช่วงสุดท้ายระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาใช้เวลากับโปรเจกต์ที่ชื่อ Breakthrough Initiative ที่พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งถ้าเราพูดถึงประเด็นการเดินทางในอวกาศก็คงอดไม่ได้ที่จะพูดถึง อีลอน มัสก์ และเจฟฟ์ เบโซส เพราะพวกเขาเองก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าต่อไปการเดินทางไปยังอวกาศนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง และวันหนึ่งมนุษย์อาจจะมีโอกาสไปตั้งรกรากอยู่ที่ดาวดวงอื่นก็เป็นได้ (ตอนนี้ NASA ก็เริ่มมีการเปิดรับอาสาสมัครเพื่อให้ไปบนดาวอังคารแบบจำลองเป็นเวลาหนึ่งปีด้วย)

อีกประเด็นหนึ่งที่ฮอว์คิงมักพูดถึงอยู่บ่อยครั้งและมีการตอบโต้เสียงแตกกันเป็น 2 ฝั่งเสมอก็คือเรื่องของ ‘แมชชีนสมองกล’ (Artificial Intelligence) ที่สุดท้ายจะฉลาดเกินกว่ามนุษย์และเสี่ยงที่เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติได้ เขาเชื่อว่า AI มีทั้งข้อดีที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น แต่มันก็มีหายนะครั้งใหญ่ที่ยากเกินจะจินตนาการรอคอยอยู่เช่นเดียวกัน

แม้ว่าตอนนี้อย่างที่เรารู้กันสมองกลยังอยู่ในช่วงตั้งไข่เริ่มต้น แน่นอนว่าบางครั้งข่าวที่นำเสนออย่างสมองกลสามารถเอาชนะนักเล่นเกมหมากล้อมอันดับ 1 ของโลกได้ เป็นอะไรที่อาจจะสร้างความกังวลให้ผู้อ่านได้ แต่มันเป็นเพียงแค่ AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานเพียงแย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือเรายังห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่า General AI หรือสมองกลที่ทำได้ทุกอย่างเหมือนมนุษย์อีกไกลโขทีเดียว

สมองกลที่ถูกนำมาใช้ตอนนี้อย่างการสร้างรถยนต์ไร้คนขับ คำนวณค่าทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยทำให้ชีวิตของเราและผู้ใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่ว่าวันหนึ่งเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น พัฒนาจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ที่เริ่มแรกเป็นงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ อย่างแคชเชียร์ แท็กซี่ และพนักงานใส่ข้อมูล จนวันหนึ่งมันอาจจะเริ่มทำงานที่ซับซ้อนมายิ่งขึ้นอย่าง เขียนบทความ (ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีบ้างแล้ว) เขียนเพลง (ตอนนี้ก็มีบ้างแล้ว) หรือวาดรูป (ตอนนี้ก็มีบ้างแล้ว)​ เราจะเห็นคนที่ตกงานมากขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้น ความร่ำรวยก็จะยิ่งกระจุกอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงมันได้ คนทั่วไปก็ต้องดิ้นรนหางานและคุณภาพชีวิตก็จะแย่ลงตามไปด้วย

หลายคนบอกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเหมือนกับช่วงศตวรรษที่ 20 ที่คลื่นของเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาสู่โรงงานหรือโกดังเก็บของ พนักงานจะถูกแทนที่ด้วยแมชชีน และต้องไปพัฒนาความสามารถของตัวเองเพื่อหางานในตำแหน่งอื่น ครั้งนี้ก็น่าจะคล้ายกันด้วย แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า ถ้าเกิดเมื่อไหร่ก็ตามที่ AI ถูกพัฒนาไปจนกระทั่งสามารถเรียนรู้ได้เร็วและรอบด้านเหมือนกับมนุษย์แล้วล่ะก็ ในทางทฤษฎีก็หมายความว่ามนุษย์ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป (ซึ่งทำให้คิดถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Wall-E’ ที่มนุษย์ในอนาคตนั่งอยู่แต่ในแคปซูล)

อย่างที่บอกว่ามุมมองเกี่ยวกับ AI ของฮอว์คิงนั้นมักถูกโต้แย้งกลับมาเสมอว่าเหมือนนิยายมากเกินไป ให้ความรู้สึกว่า Skynet จากเรื่องคนเหล็กจะมาครองโลกทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าคือเมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI พัฒนาไปได้ไกลจนถึงจุดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างเป็นอาวุธที่ล้ำสมัยหรือสร้างความเสียหายต่อมนุษย์คนอื่น ๆ ได้ AI อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เราต้องกังวลว่ามันจะครองโลก แต่กลายเป็นมนุษย์มากกว่าที่จะใช้มันเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้คนเพียงไม่กี่คนที่ครอบครองมันอยู่

ในมุมมองของฮอว์คิงเกี่ยวกับ AI คือมันเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดและเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ สำหรับเขาแล้วเขารู้สึกว่ามันจะสร้างความแบ่งแยกให้กับคนในสังคมชัดเจนมากยิ่งขึ้น คนที่เข้าถึงก็จะร่ำรวย ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสก็จะยิ่งถูกกดขี่ลงไปอีก และถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้กลายเป็น Skynet ที่พยายามฆ่ามนุษย์ทุกคนบนโลก แต่มันก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับมนุษย์เพื่อทำร้ายกันเองก็ได้

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส