งานวิจัยล่าสุดเผยฟุตเทจตุ๊กแกจับแมงป่องกินเป็นอาหาร ทำให้พบว่าตุ๊กแกที่ปกติจะสงบก็สามารถจัดการกับเหยื่ออย่างรุนแรงและบ้าคลั่งได้

เมื่อตุ๊กแกแถบตะวันตก (western banded gecko: Coleonyx variegatus) งับเหยื่อแมงป่องของมัน มันจะส่ายหัวซ้าย-ขวาอย่างรุนแรง ฟาดแมงป่องกระแทกพื้นหลายครั้งก่อนจะกินแมงป่องทั้งตัวภายในเวลาไม่กี่วินาที

“ตุ๊กแกอาจเป็นสัตว์ที่น่ากลัวน้อยที่สุดที่คุณเคยพบ แต่เมื่อมันเผชิญกับแมงป่อง มันจะเข้าสู่โหมดบ้าคลั่ง” มาลาชิ วิตฟอร์ด (Malachi Whitford) หัวหน้าทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานดิเอโก (SDSU) กล่าว

งานวิจัยเผยว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นวิธีการที่ทำให้ตุ๊กแกรอดพ้นจากเหล็กในที่มีพิษของแม่งป่องได้ ซึ่งนี่เป็นวิธีการเช่นเดียวกับจระเข้และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่จัดการกับเหยื่อด้วยการกัดและเขย่าอย่างรุนแรง ซึ่งนี่เป็นงานวิจัยที่มีการอธิบายพฤติกรรมของตุ๊กแกสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรก

Coleonyx variegatus อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ส่วนมากกินแมลงเป็นอาหาร แต่บางครั้งมันก็อาจสามารถกินแมงป่องบางสปีชีส์ (Smeringurus mesaensis) ได้เช่นกัน

เครดิต: Grace Freymiller

นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยโดยบันทึกวิดีโอของตุ๊กแกแถบตะวันตกด้วยเฟรมเรต 1,200 เฟรมต่อวินาทีในขณะที่มันจัดการกับเหยื่อได้แก่ แมงป่อง และสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่มีพิษ ซึ่งพวกเขาได้ทำการทดลองถึง 21 สถานการณ์ที่ตุ๊กแก 9 ตัวจัดการแมงป่อง และอีก 10 สถานการณ์ที่ตุ๊กแก 8 ตัว กินเหยื่อชนิดอื่นเป็นอาหาร

พวกเขาใช้เทคโนโลยีในการติดตามการเคลื่อนไหวของตุ๊กแกชนิดดังกล่าว และบันทึกการเคลื่อนไหวของหัวของมันแบบเฟรมต่อเฟรม รวมถึงบันทึกความเร็ว ความเร่งในขณะที่พวกมันงับและเขย่าแมงป่องหลาย 10 ครั้งในไม่กี่วินาที

การศึกษาพบว่า 62% ของแมงป่องที่โดนเขย่าและฟาดจากตุ๊กแกนั้นจะทำให้มันไม่สามารถเคลื่อนที่และทำอันตรายตุ๊กแกได้ แต่ในระหว่างการเผชิญหน้ากับแมงป่องกลับพบว่า ร้อยละ 90 ของตุ๊กแกจะถูกหางของแมงป่องต่อย ซึ่งการงับพวกมันและเหวี่ยงอย่างรุนแรงจะช่วยลดความรุนแรงจากการถูกต่อยและทำให้แมงป่องไม่สามารถฉีดพิษได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งมันยังอาจทำให้เหล็กในของแมงป่องร้าวและแตกได้

“ภาพบันทึกนั้นเห็นได้ชัดว่าตุ๊กแกจับทุ่มแมงป่องลงบนพื้นผิวต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเราเห็นเฉพาะมุมมองแบบ top-down เท่านั้น เรายังไม่สามารถบรรยายแรงที่แมงป่องได้รับจากการกระแทก ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปจึงจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมการเหวี่ยงเพื่อกระแทกของมันในวิดีโอ 3 มิติ”

อ้างอิง: LiveScience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส