ในปี 2018 บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Amazon Apple และ Uber เริ่มเข้ามามีบทบาทในการอุดช่องว่างต่างๆในการดูแลสุขภาพ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่แต่ละบริษัทก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะในปี 2019 นี้ แต่ละบริษัทก็มีแผนที่จะเจาะตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ แต่ยังไงซะธุรกิจนี้ก็ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินอยู่ดี ในหลายประเทศตลาดการดูแลสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งอุสาหกรรมใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (นี่เป็นตัวเลขในอเมริกาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น) จากการอธิบายของผู้เชี่ยวชาญ อุสาหกรรมการดูแลสุขภาพในอเมริกานั้นมีช่องโหว่ และไม่มีประสิทธิภาพมากพอ นั่นจึงเปิดโอกาสให้บริษัทใหญ่ๆหลายภาคส่วนมีพื้นที่มากมายในการจับอุสาหกรรมนี้โดยที่ไม่ต้องแข่งขันกันมากนัก เอาล่ะ! มาดูกันว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เค้าทำการตลาดด้านสุขภาพอย่างไรกันบ้าง

Amazon

เริ่มกันที่บริษัทของ Jeff Bezos ที่ประกาศทำศูนย์ดูแลสุขภาพร่วมกับสองนักธุรกิจ Berkshire Hathaway และ JPMorgan Chase เพื่อพนักงานในบริษัทของเขา หลังจากนั้นทางบริษัทก็มีโปรเจคร้านขายยาออนไลน์ ‘PillPack’ และประกาศขายซอร์ฟแวร์สำหรับอ่านเวชระเบียนโดยเฉพาะ หากพูดกันตรงๆศูนย์สุขภาพดูจะไม่ส่งผลกระทบต่อวงการ Health Care สักเท่าไหร่ แต่สำหรับร้านขายยาออนไลน์ และซอร์ฟแวร์เวชระเบียนนั้นดูจะส่งผลมากกว่าที่คาดไว้ ซอร์ฟแวร์เวชระเบียนจะเข้ามาแก้ปัญหาของระบบเวชระเบียนแบบเดิมได้หรือไม่? Amazon จะจัดการใช้งาน PillPack ให้เหมาะสมได้อย่างไร? ร้านขายยาแบบปกติจะดำเนินไปในทิศทางไหน? ไม่แน่ในอนาคตเราอาจสามารถซื้อยาแก้โรคซึมเศร้าผ่าน PillPack ก็ได้นะ

Apple

ในปี 2018 Apple ได้ทำการพัฒนาแอพ Apple Health เพื่อให้สามารถแสดงเวชระเบียนจากโรงพยาบาล 39 แห่งได้ และเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้ Apple Watch สามารถวัดคลื่นหัวใจได้ (EKG) และก็ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะมันผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) เรียบร้อยแล้ว (รับรองแต่ไม่ได้อนุมัติผ่านนะ) และเช่นเดียวกับ Amazon Apple ได้เปิดศูนย์ดูแลสุขภาพเพื่อพนักงานในองค์กร แต่ที่แตกต่างกว่าคือ Apple เตรียมเจรจากับองค์กรทหารผ่านศึกของสหรัฐ เพื่อให้เหล่าทหารผ่านศึกสามารถเข้าถึงเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์บน iPhone ได้อีกด้วย แต่คำถามใหญ่สำหรับ Apple ในปี 2019 คือ คุณสมบัติวัด EKG จาก Apple Watch จะสร้างอันตรายมากกว่าข้อดีให้แก่ผู้ใช่งานรึเปล่า เพราะตัวเลขการขายที่มากถึง 8 ล้านเรือนต่อไตรมาสนั่นอาจทำให้ระบบตรวจ EKG ผิดพลาดก็ได้

นอกจากนี้ Apple ยังเป็นพันธมิตรกับสถาบันทางการแพทย์ และการศึกษาต่างๆ มาเป็นเวลานาน ดังนั้นเราต้องคอยดูกันต่อไปว่าสถาบันเหล่านั้นจะยื่นเรื่องขออนุมัติจาก FDA หรือไม่ และ Apple จะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจจากการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย Stanford เป็นเวลากว่า 1 ปี มาบอกเรารึเปล่า?

Uber

ในเดือนมีนาคมบริษัทการขนส่งอย่าง Uber ได้เปิดตัว ‘Uber Health’ เพื่อให้ผู้ป่วย หรือผู้ดูแลสามารถเรียกรถไปโรงพยาบาลได้ แต่นี่ไม่ได้หมายถึงการเข้ามาแทนที่รถพยาบาลนะ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนจะบอกว่า รถจาก Uber จะดีกว่ารถพยาบาลก็ตาม แต่มันก็ต้องตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ความไม่ปลอดภัยของผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ และถ้าผู้ป่วยมาพร้อมรถเข็นละจะทำอย่างไร? แต่นอกจาก Uber Health จะเข้ามามีบทบาทในการขนส่งผู้ป่วยกรณีไม่ฉุกเฉินแล้ว ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับรถเองได้ และผู้ป่วยที่มีปัญหากับระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้พลาดนัดหมอเป็นประจำ ดูจะพอใจกับบริการนี้น่าดูเลย

ALPHABET

ปิดท้ายด้วยบริษัทแม่ของ Google และ Verily Life Sciences ถึงแม้จะไม่ได้มีผลงานทางด้านสุขภาพเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนกับสามบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น แต่สิ่งที่บริษัทนี้ให้ความสนใจคือการวิจัยด้านสุขภาพ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา David Feinberg CEO คนใหม่ของ Google ได้เข้ามาแก้ปัญหา Google Brain (ระบบ AI ที่ช่วยในการจดบันทึกตามคำพูดของแพทย์) ในขณะเดียวกัน Verily ยังคงให้ความร่วมมือในการพัฒนายา และบริษัทอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพ Verily ยังคงเร่งพัฒนาระบบสัมผัสอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับน้ำตาลในน้ำตาด้วย และล่าสุด Verily ออกมาประกาศว่าจะร่วมมือกับ Walgreens ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามแพทย์หรือปัญหาของผู้ป่วยที่ไม่ทานยาตามแพทย์สั่งอีกด้วย

ในปี 2019 นี้เราคงจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากบริษัทเหล่านี้เพื่อมาช่วยเหลือปัญหาด้านสุขภาพของชาวอเมริกันมากขึ้น แต่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เราก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

อ้างอิง