‘วันนี้นอนไม่พอไม่เป็นไร เดี๋ยวเสาร์ – อาทิตย์ได้หยุด ก็นอนชดเชยเอาก็ได้’ หลายคนคงเคยมีความคิดแบบนี้ใช่ไหมคะ ว่าการนอนมันสามารถเก็บชม. ทบต้นทบดอกในวันถัดๆ ไปได้ แล้วความคิดนี้มันจริงรึเปล่านะ? หรือว่าจริงๆแล้วเราคิดกันไปเอง?

Chris Depner ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยด้านสรีรวิทยา จากมหาวิทยาลัย Colorado นำทีมนักวิจัยหาคำตอบในเรื่องนี้ไว้แล้วค่ะ ในการทดลอง เขาได้นำอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 36 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 39 ปี มาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน และ ทั้งสามกลุ่มจะถูกเก็บตัวอยู่ที่ห้องทดลองทั้งหมดสองสัปดาห์ (36 คน บางคนอาจะมองว่าน้อยนะคะ แต่นักวิจัยเค้าลงความเห็นกันแล้วว่า คนจำนวนเท่านี้กับการทดลองดังกล่าว เป็นตัวแทนของผลลัพธ์ที่มากพอแล้วค่ะ) โดย

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมการนอน กลุ่มนี้จะถูกจำกับการนอนเพียงแค่ 5 ชม. / คืนเท่านั้น

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มสุดสัปดาห์ พวกเขาจะถูกจำกัดการนอน 5 ชม. เพียงแค่ 5 วัน เท่านั้น ส่วนอีก 2 วัน พวกเขาจะนอนมากเท่าไหร่ก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุม พวกเขาจะถูกจำกัดการนอนที่ 9 ชม./ วัน ทุกๆวัน

ผลการทดลองพบว่า เมื่อเปรียบเทียบจากวันแรก กลุ่มที่ 1 และ 2 มีการรับประทานขนมมากกว่าปกติในช่วงกลางคืน น้ำหนักมากขึ้น และมีสัญญาณของความเสื่อมโทรมของสุขภาพชัดมากขึ้น รวมถึงทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มากขึ้น โดยกลุ่มที่ 1 มีเปอร์เซ็นต์ การตอบสนองต่อ Insulin ลดลง 13% ในขณะที่กลุ่มที่ 2 มีเปอร์เซ็นต์ลดลง 9 – 27 %

นอกจากนี้พวกกลุ่มที่ 2 ยังตื่นในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาเดิมของตนเองทำให้กลุ่มนี้มีเวลานอนในช่วงสุดสัปดาห์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 66 นาทีเท่านั้น Depner จึงได้ข้อสรุปว่า การนอนชดเชยในวันเสาร์ – อาทิตย์ หลังจากนอนไม่พอมาทั้งสัปดาห์ ไม่ได้ช่วยทดแทนการพักผ่อนที่ร่างกายต้องการได้เลย

แต่อย่างเพิ่งเหมารวมสุขภาพทั้งหมดนะคะ เพราะงานวิจัยนี้เค้ามุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่เกิดกับระบบการเผาผลาญเป็นหลัก ไม่ได้วัดผลในเรื่องของสภาพจิตใจ และ สติปัญญานะคะ แต่ถึงอย่างนั้นงานวิจัยนี้ก็ชี้ให้เราเห็นแล้วว่า การเข้านอนให้เป็นเวลา และการพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของเรานะคะ

อ้างอิง