ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หากมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มั่นใจว่า แหล่งที่อยู่อาศัยในปัจจุบันจะสามารถอยู่อาศัยได้ไปอีกหลายพันปีหรือหลายชั่วอายุคนกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอพยพย้ายถิ่นฐานเช่นบรรพบุรุษของเราในอดีตก็อาจกลายเป็นความคิดที่ผิดไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด หลังจาก Beartai ได้เคยนำเสนอเรื่องราวที่องค์กร NOAA ออกมาเปิดเผยว่า ปี 2020 กำลังจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยบันทึกกันมา 140 ปี แม้เพิ่งจะผ่านไปแค่เดือน พฤษภาคม เท่านั้น วันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เปิดเผยข้อมูลร้อนแรงชิ้นใหม่ออกมาอีกแล้ว

จากรายงานล่าสุดของ National Academy of Sciences of the United States of America (PNAS) ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากมลพิษจากก๊าซเรือนกระจกยังคงถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์จนถึงปี 2070 มนุษยชาติจำนวนกว่า 3,000 ล้านคนบนโลกใบนี้จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่ “ร้อนเกินกว่าระดับที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้”

จากค่าสถิติแล้ว ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส คนจำนวน 1 พันล้านคนจะต้องอพยพไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นขึ้นกว่าเดิม (ออกห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากขึ้น หรือขึ้นไปอาศัยอยู่บนที่สูงที่เป็นภูเขามากขึ้น) เพื่อเลี่ยงต่อการต้องปรับตัวเข้ากับอากาศที่ร้อนจนแทบจะทนไม่ไหว

Tim Kohler ผู้ศึกษาปรากฎการณ์นี้อย่างจริงจังจากมหาวิทยาลัย Washington กล่าวว่า การศึกษานี้เป็นการมองในกรณีที่แย่ที่สุด หากมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงกิจกรรมและ “สุมไฟ” ให้เกิดสถานการณ์โลกร้อนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา รวมถึงการไม่ลด-ละ-เลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันเสียที

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอุณหภูมิของโลกและการกระจายตัวของประชากรนั้นพบว่า มนุษย์จะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีช่วงอุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสมที่สุด (Climate Niche) เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่บนโลกนี้

ประชากรส่วนใหญ่บนโลกนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 11 – 15 องศาเซลเซียส (อ่านแบบนี้แสดงว่า คนไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่เกินค่าอุณหภูมิเฉลี่ยมามากเลยทีเดียว!) โดยมนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและสภาพอากาศที่เหมาะสมเช่นนี้มานานกว่า 6,000 ปีแล้ว ก่อนที่อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะภาวะโลกร้อนที่เกิดเป็นวิกฤตในช่วงไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง

ขณะนี้โลกจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่า 3 องศาเซลเซียส (เทียบกับก่อนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม) ภายในปี 2100 โดยภาคพื้นดินจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าพื้นมหาสมุทร และมนุษย์อาจได้สัมผัสประสบการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นถึง 7.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2070 แต่หากวิเคราะห์จากข้อมูลปัจจุบัน บริเวณทะเลทรายซาฮาราของทวีปแอฟริกาที่เดียวก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่สูงขึ้นมากกว่า 29 องศา และกลายเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิร้อนสุดขีด กินพื้นที่ครอบคลุมกว่า 0.8% จากพื้นที่ทั้งหมดบนโลก

นักวิจัยคาดว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดจะกระจายตัวไปทั่วทุกพื้นที่ของโลกราว 19% ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนกว่า 3,000 ล้านคนในปี 2070 ซึ่งบริเวณที่จะได้รับผลกระทบไล่ตั้งแต่ พื้นที่แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมไทย) คาบสมุทรอาหรับ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโซนที่มีจำนวนประชากรพุ่งพรวดอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปีนี้อย่างแน่นอน ขณะที่ธนาคารโลกก็ออกมาคาดการณ์ (ด้วยข้อมูลที่น่ากลัวน้อยกว่า) ไว้เหมือนกันว่า 143 ล้านคนบริเวณเอเชียใต้ แอฟริกา และลาตินอเมริกาอาจอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องย้ายถิ่นเพราะภาวะโลกร้อน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส