หลังจากยานอวกาศฮายาบูสะ 2 (Hayabusa 2) ทะยานขึ้นสู่อวกาศในเดือนธันวาคม ปี 2014 และเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2018 มันก็ได้เริ่มต้นสำรวจครั้งยิ่งใหญ่ และหนึ่งในภารกิจนั้นก็คือการเก็บตัวอย่างดินและหินจากดาวเคราะห์น้อยริวงูกลับมายังโลกเพื่อศึกษา ซึ่งล่าสุด (6 ธ.ค. 63) แคปซูลตัวอย่างก็ได้เดินทางถึงโลกแล้ว

เมื่อไปถึงดาวเคราะห์น้อยริวงู ยานอวกาศฮายาบูสะ 2 ก็ได้สำรวจดาวเคราะห์น้อยอย่างละเอียด มีการติดตั้งมินิโพรบหลายตัว (Miniprobes) ลงบนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย มันประกอบไปด้วยยานสำรวจขนาดเล็กหลายลำรวมทั้งส่วนลงจอดขนาดไมโครเวฟที่เรียกว่า MASCOT (Mobile Asteroid Surface Scout) ผลิตโดยศูนย์การบินอวกาศเยอรมัน (German Aerospace Center) ร่วมกับหน่วยงานอวกาศของฝรั่งเศส (CNES)

ส่วนยานหลักของฮายาบูสะ 2 ได้เดินทางไปยังพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยริวงู 2 ครั้ง และได้เก็บตัวอย่างดินและหินทั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เป็นการเก็บวัตถุจากพื้นผิว ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในอีกสองเดือนถัดมา โดยยานได้ยิงกระสุนทองแดงน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัมไปที่พื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยทำให้เกิดหลุมกว้างขนาดประมาณ 10 เมตร และต่อมา ในเดือนกรกฎาคมจึงได้ดำเนินการเก็บชิ้นส่วนที่กระจายออกไว้ในแคปซูลภายในยาน โดยสาเหตุที่ต้องเก็บชิ้นส่วน 2 ครั้งจากตำแหน่งที่ต่างกัน ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องการเปรียบเทียบชิ้นส่วนจากสองสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน นั่นคือ ที่พื้นผิวของดาวซึ่งอาบรังสีในอวกาศมาโดยตลอด และในความลึกที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นแทบไม่โดนรังสี

ภารกิจนำตัวอย่างหินและดินจากดาวเคราะห์น้อยริวงูกลับคืนสู่โลก
ในภาพคือ ส่วนแคปซูลเก็บตัวอย่างจากยานฮายาบูสะ 2 กำลังพุ่งเข้าสู่โลก
(Credit: JAXA)

จากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ยานฮายาบูสะ 2 จึงนำแคปซูลนี้เดินทางมาออกดาวเคราะห์น้อยริวงู และได้นำส่งแคปซูลบรรจุดินและหินตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยริวงู สู่พื้นผิวโลกในพื้นที่หวงห้ามวูเมอราของกองทัพอากาศออสเตรเลีย รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2020 เวลา 00:47 น. และหลังจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอย่างดินดาวเคราะห์น้อยไปศึกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของยานฮายาบูสะ 2 ยังคงไม่จบ องค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้ขยายระยะเวลาทำภารกิจของยานฮายาบูสะ 2 ต่อ โดยให้ยานฮายาบูสะ 2 โคจรรอบดวงอาทิตย์พร้อมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แล้วจะเข้าใกล้เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อย 2001 CC21 ในเดือนกรกฎาคม 2026 และดาวเคราะห์น้อย 1998 KY26 ในเดือนกรกฎาคม 2031

ยานฮายาบูสะ 2 นับเป็นยานลำที่ 2 ที่เก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยส่งกลับมาถึงโลกได้ ยานลำแรกที่นำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยกลับมาได้สำเร็จคือยานฮายาบูสะ โดยนำตัวอย่างดินจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยหินประเภท S ที่อุดมไปด้วยแร่ซิลิกาส่งกลับมาถึงโลกสำเร็จในปี 2010

สำหรับตัวอย่างดินและหินของดาวเคราะห์น้อยริวงูนี้คาดว่าจะมีปริมาณถึง 100 มิลลิกรัม ดาวเคราะห์น้อยริวงูเป็นดาวเคราะห์น้อยหินประเภท C ที่อุดมไปด้วยคาร์บอน มีสารอินทรีย์ที่มีน้ำและคาร์บอนเจือปนอยู่มาก แตกต่างจากตัวอย่างดินดาวเคราะห์น้อยที่เคยเก็บก่อนหน้า ถือเป็นวัตถุดั้งเดิมในเมฆฝุ่นแก๊สที่ก่อตัวเป็นระบบสุริยะ ก่อนที่จะทำอันตรกิริยาทางเคมีระหว่างกันบนวัตถุ การศึกษามันจึงจะช่วยให้เราเข้าใจการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ และสารเคมีที่เป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนยานที่จะนำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยกลับโลกลำต่อไปคือยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) ของสหรัฐอเมริกา มีกำหนดส่งแคปซูลบรรจุตัวอย่างดินดาวเคราะห์น้อยลงสู่พื้นโลกในปลายเดือนกันยายน 2023

อ้างอิง

Space.com

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส