บลูออริจิน (Blue Origin) บริษัทผลิตระบบการบินอวกาศที่ก่อตั้งโดย เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ได้ยื่นฟ้องนาซา (NASA) ต่อศาลรัฐบาลกลาง ร้องถามความเป็นธรรมที่นาซาตกลงเซ็นสัญญามูลค่า 2,940 ล้านเหรียญ (97,706 ล้านบาท) กับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) สำหรับพัฒนายานลงจอดบนดวงจันทร์ต่อไปว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายและไม่เหมาะสม

16 เมษายน นาซ่าได้ประกาศผลการคัดเลือกให้สเปซเอ็กซ์ได้รับสัญญา (เพียงรายเดียว) มูลค่า 2,890 ล้านเหรียญ (9 หมื่นล้านบาท) สำหรับการสร้างระบบลงจอดนำมนุษย์แตะสู่พื้นของดวงจันทร์ (Human landing system : HLS) ในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ซึ่งเมื่อ 30 เมษายน 2020 นาซ่าได้เลือก 3 บริษัทอวกาศคือ บลูออริจิน ไดเนติกส์ (Dynetics) และสเปซเอ็กซ์ให้ออกแบบและพัฒนาระบบ HLS ในโครงการอาร์เทมิส

ปลายเดือนเมษายนบลูออริจินและไดเนติกส์ (Dynetics) ได้ยื่นประท้วงนาซาต่อ GTO (Government Accountability Office) หน่วยงานสืบสวนโครงการของรัฐบาลกลางที่นาซาเลือกเซ็นสัญญากับสเปซเอ็กซ์เพียงรายเดียว เพราะคาดหวังว่านาซาน่าจะเลือก 2 บริษัทในการออกแบบ HLS

เดือนกรกฎาคม GAO ได้ปฏิเสธการประท้วงที่ยื่นร้องเรียนโดยบลูออริจินและไดเนติกส์ ซึ่งให้เหตุผลว่าการที่นาซ่าเลือกสเปซเอ็กซ์เพียงรายเดียวเพราะมีคะแนนสูงสุดในการเสนอราคาต่ำที่สุด และนาซ่าสรุปว่าขาดเงินทุนที่จะเลือกมากกว่าหนึ่งบริษัท อีกทั้ง GTO ยังชี้ว่านาซาไม่ได้ละเมิดกฎหมายหรือระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจากตารางด้านล่างจะเห็นว่า SpaceX เสนอราคาต่ำกว่า Blue Origin และ Dynetics เกินครั้ง แถมเรื่องเทคนิคและการจัดการยังดีกว่าด้วย

สรุปการประเมินเลือกระบบ HLS ของนาซ่า

หลังจากนั้นบลูออริจินยังไม่หยุดเล่นเรื่องนี้ โดยได้นำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์ blueorigin.com อ้างว่าระบบลงจอด HLS หรือสตาร์ชิป (Starship) ของสเปซเอ็กซ์มีความซับซ้อนเกินไปและมีความเสี่ยงสูงที่พานักบินอวกาศของสหรัฐฯ กลับไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จอีกครั้ง

หลังจากที่บลูออริจินยื่นฟ้องนาซาถึงประเด็นนี้ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ก็ได้ออกมาเหน็บว่า “ถ้าการล็อบบี้และทนายความพาคุณขึ้นสู่วงโคจรได้ ตอนนี้เบโซสก็ได้อยู่บนดาวพลูโตไปแล้ว”

ที่มา : cnet และ theregister

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส