เราทุกคนเมื่อหลับสนิทต่างก็เข้าสู่ห้วงของความฝัน บางคืนก็ฝันดี บางคืนก็ฝันร้าย บางทีฝันร้ายมาก ๆ ถึงกับสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็มี แล้วก็โล่งใจจังที่เหตุร้ายนั้นเป็ฯแค่ความฝัน บางคนจำฝันได้แม่น ก็เอามาตีเป็นเลขต่อได้อีก เรียกได้ว่ามนุษย์เรานี่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวในความฝันกันพอดู แล้วผู้อ่านล่ะครับ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าในขณะที่มนุษย์หลับแล้วฝันกัน แล้วสัตว์ล่ะ หมา แมว ที่เราเห็น ๆ กันอยู่เนี่ย หลับแล้วฝันเหมือนมนุษย์เรากันบ้างมั้ย

แน่นอนว่าพวกเรายังสงสัย นักวิทยาศาสตร์ก็ย่อมตั้งคำถามนี้เช่นกัน และสงสัยในเรื่องนี้มายาวนานแล้วด้วย แต่วิทยาการในยุคก่อนนั้นยังไม่เอื้ออำนวยให้ทำการทดสอบได้ จนกระทั่งเข้าสู่ยุค 1950s ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มพัฒนาขึ้น แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ได้หลักฐานที่พิสูจน์ได้แล้วว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดนั้น รวมไปถึงนก ต่างก็หลับแล้วฝันได้จริง

ส่วนหนึ่งของหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ก็คือ การหลับลึกในระยะที่เรียกว่า REM หรือ Rapid Eye Movement มีการค้นพบห้วงการหลับลึกนี้ในปี 1953 เมื่อคนเราหลับลึกจนเข้าสู่ห้วงนี้จะเป็นช่วงที่เราเริ่มเข้าสู่ความฝัน ในช่วงนี้เราจะหลับสนิท ร่างกายจะนอนนิ่ง มีเพียงลูกตาเราเท่านั้นที่กรอกไปมา จึงเป็นเหตุผลที่เรียกว่า Rapid Eye Movement นั่นเอง แม้ร่างกายเราจะไม่เคลื่อนไหวมากมายนัก แต่สมองของเราสิกลับทำงานอย่างมากเลย

หลังจากนักวิทยาศาสตร์ค้นพบการหลับแบบ REM ในมนุษย์แล้ว ก็เริ่มทำการศึกษาต่อในสัตว์หลาย ๆ ประเภท ทั้งหมา แมว นก ตุ่นปากเป็ด รวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานบางประเภทด้วย แล้วก็พบว่าสัตว์เหล่านี้ต่างหลับแล้วเข้าสู่ห้วง REM ด้วยกันทั้งนั้น ในการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์นำรูปแบบการเดินทางของคลื่นไฟฟ้าในสมองมนุษย์ขณะหลับฝันมาเป็นต้นแบบ แล้วนำมาเทียบกับรูปแบบของสัตว์ ก็พบว่ามีรูปแบบที่คล้ายกันมาก จึงพอใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า สัตว์ก็ฝัน เช่นกัน

ในการศึกษาเรื่องนี้กับแมว ก็พบเรื่องน่าขันว่าแมวบางตัวที่ฝันร้ายก็ถึงกับละเมอแล้ววิ่งไปมาได้ บางตัวก็ฝันจริงจังถึงขั้นใช้เท้าตวัดไปมาในอากาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขามีข้อสงสัยต่อไปว่า ถ้าสัตว์เหล่านี้มีความฝัน แล้วพวกเค้าฝันถึงอะไรกันล่ะ

มีคลิปวิดีโอน่ารัก ๆ มาฝากด้วยครับ เป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันว่าเจ้าเหมียวน้อยกำลังฝันร้าย แล้วแม่เหมียวก็เลยดึงลูกมากอดเพื่อปลอบประโลม

ในปี 2001 มีการทดลองเรื่องความฝันของหนูทดลอง ด้วยการบันทึกรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ขณะที่หนูวิ่งไปมาในเขาวงกต แล้วพอหนูตัวนี้หลับก็นำรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าในสมองมาเปรียบเทียบกันดู ผลก็คือรูปแบบคล้ายกันมาก พอตั้งเป็นสมมติฐานได้ว่า เจ้าหนูทดลองนี่น่าจะฝันถึงเรื่องการวิ่งในเขาวงกต

ในปี 2015 มีการศึกษาถึงเรื่องนี้เพิ่มเติม และผลการทดลองก็ยืนยันสมมติฐานเดิม ในการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์นำอาหารมาโชว์ให้หนูทดลองดูแต่ไม่ให้มันกิน พอมันหลับ นักวิทยาศาสตร์ก็สำรวจลึกลงไปถึงการทำงานของเซลล์สมองของหนู ซึ่งพอจะอ่านได้ว่า เจ้าหนูตัวนี้ฝันว่าจะหาทางไปเอาอาหารที่เห็นนั้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิทยาการในปัจจุบัน บวกกับผลการทดลองที่ค้นพบนั้น พอจะเชื่อได้ว่าสัตว์หลับแล้วฝันได้เหมือนมนุษย์ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ 100 %

อ้างอิง