แผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ในกรีนแลนด์ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นกว่าปกติ จนส่งผลให้เกิดการละลายของน้ำแข็งจำนวนมหาศาล ขนาดที่สามารถท่วมทั้งรัฐฟลอริดาของอเมริกาได้สูง 5 ซม. เลยทีเดียว!

ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา น้ำแข็งประมาณ 8.5 พันล้านตัน ได้ละลายไปจากแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ในกรีนแลนด์มากกว่าค่าเฉลี่ยถึงเท่าตัว สาเหตุมาจากคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณภาคเหนือของกรีนแลนด์สูงกว่าปกติเป็นเท่าตัว

ในวันที่ 28 กรกฎาคม ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายทำสถิติเป็นอันดับ 3 ของเหตุการณ์ที่มีน้ำแข็งละลายมากที่สุดในหนึ่งวันตั้งแต่ปี 1950 ตามหลังปี 2019 และ 2012 ที่เกิดน้ำแข็งละลายมากที่สุดอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

แม้ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายจะไม่มากเท่ากับปี 2019 แต่พื้นที่ที่น้ำแข็งละลายกลับขยายใหญ่ขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน

ทวีตจาก Polar Portal

ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center: NSIDC) คาดการณ์เอาไว้ว่า หากน้ำแข็งทั้งหมดที่อยู่ในกรีนแลนด์ละลาย จะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เมตร โดยนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยในเบลเยียมเผยว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม น้ำแข็งในกรีนแลนด์ได้ละลายไปประมาณ 12,000 ล้านตัน ลงสู่ทะเล ส่วนอีก 10,000 ล้านตันถูกหิมะที่ตกลงมาดูดซับไป

แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์เป็นแผ่นน้ำแข็งถาวรแห่งเดียวบนโลกนอกจากในแอนตาร์กติกา มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัสถึง 3 เท่า มีพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยที่มีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตรเกิน 3 เท่า!

อ้างอิง: LiveScience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส