นอกชายฝั่งดาฮาบ ออกไปทางตอนเหนือประมาณ 8 กม. ประเทศอียิปต์ มีโพรงถ้ำใต้น้ำยาวทอดตัวยาวกว่า 100 เมตรอยู่ใต้ทะเลแดง (Red Sea) บริเวณนี้จะหนาแน่นไปด้วยปะการัง และหมู่ปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และที่สำคัญที่สุดในบริเวณนี้ก็คือ ซุ้มประตูที่เกิดจากสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่งดงามราวกับทางเข้ามหาวิหาร ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Blue Hole” แห่งทะเลแดง และด้วยความงามนี้แหละที่สามารถดึงดูดนักดำน้ำจากทั่วโลกให้ดำลงไปชมแล้วก็ต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นั่นนับไม่ถ้วน

ความงามของ Blue Hole ที่ดึงดูดนักประดาน้ำจากทั่วโลก

ในปี 2022 มีการประเมินว่า มีนักดำน้ำอย่างน้อย 40 คนเสียชีวิตในบริเวณนี้ แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจริง ๆ น่าจะถึง 200 ราย แต่ละรายที่ทิ้งชีวิตไว้ที่นี่ ก็จะมีแผ่นป้ายจารึกแขวนไว้ตามแนวหน้าผาฝั่งตรงข้าม เพื่อเป็นการสดุดีให้กับนักดำน้ำเหล่านี้ แม้จำนวนป้ายชื่อจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เหล่านักดำน้ำต่างก็ไม่สะทกสะท้าน ยังทยอยมาพิสูจน์ความสามารถตัวเองกันอยู่เรื่อย ๆ วิลเลียม ทรูบริดจ์ เจ้าของสถิติโลก Free Diving บอกว่า “ถ้าวัดกันเรื่องอัตราเสียชีวิต Blue Hole นั้นอันตรายยิ่งกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์”

แผ่นป้ายจารึกชื่อนักดำน้ำที่เสียชีวิต

แม้จะเป็นที่ร่ำลือกันถึงความอันตรายที่พรากชีวิตนักดำน้ำมานักต่อนัก แต่ในทางตรงกันขัามก็ยิ่งเป็นชื่อเสียงที่สร้างความท้าทายของบรรดานักดำน้ำทั่วโลก ที่อยากจะมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง จึงทำให้ “Blue Hole” กลายเป็นสถานที่ดำน้ำที่ยอดนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ มีนักดำน้ำดำลงไปพิสูจน์ความงามกันแทบทุกวัน แต่ก็มีนักดำน้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกจะดำน้ำใกล้ ๆ บริเวณนั้นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจไม่ท้าทายตัวเองด้วยการดำลึกไปชมมหาวิหารใต้น้ำ มีบริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวนั่งเรือชมความงามในบริเวณนั้นด้วยเช่นกัน

ในวันนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าด้วยเหตุใด “Blue Hole” จึงเป็นจุดดำน้ำที่อันตรายที่สุดในโลก แต่เชื่อกันว่า เป็นเพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของ “Blue Hole” นี้ล่ะที่เป็นสาเหตุหลัก “Blue Hole” มีทางเข้าที่ตื้นประมาณ 6 เมตร ช่วงนี้จะเรียกกันว่า ‘อานม้า’ (The saddle) จะอยู่ใกล้ ๆ กับชายฝั่งดาฮาบ และเมื่อดำลึกลงไปอีก 120 เมตร จะเจอกับอุโมงค์ที่เรียกกันว่า “The Arch” ตลอดแนวอุโมงค์นี้จะมีความสูงจากพื้นถีงเพดานอุโมงค์ที่ราว ๆ 65 เมตร และมีความยาวของอุโมงค์ที่ 25 เมตร จุดนี้ล่ะที่บรรดานักดำน้ำบรรยายกันไว้ว่างดงามรามกับมหาวิหารใต้น้ำ

เมื่อมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นก็ย่อมมีความเชื่อในทางลี้ลับด้วยเช่นกัน มีตำนานที่เชื่อกันว่าเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนี้ก็เพราะ Blue Hole” นั้นต้องคำสาป ในเรื่องเล่าในตำนานว่าในอดีตกาล มีหญิงสาวที่โดนพ่อแม่บังคับให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน ซึ่งเธอไม่ยินดีที่จะเข้าพิธีแต่งงานนี้ จึงมากระโดดน้ำฆ่าตัวตายในบริเวณ “Blue Hole” นี้

ทาเร็ค โอมาร์

ทาเร็ค โอมาร์ (Tarek Omar) นักดำน้ำเทคนิควัย 53 ปี ที่อาศัยอยู่ในดาฮาบนี้ เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบ “Blue Hole” ในปี 1992 แต่วันนั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งในปี 1997 เมื่อโอมาร์กู้ร่างไร้วิญญาณของ คอนเนอร์ โอ’เรแกน และ มาร์ติน การา ขึ้นมาจากใต้น้ำบริเวณนี้ได้ “พวกเขาคือผู้เสียชีวิตกลุ่มแรกที่กู้ร่างมาได้จาก Blue Hole” โอมาร์กล่าว ตั้งแต่นั้นมา โอมาร์ก็บอกว่าเขาเก็บกู้ร่างจากใต้น้ำมาได้กว่า 20 ศพ จนได้รับสมญานามว่า “สุสานนักประดาน้ำ”

อเลสเซีย เซคคินิ (Alessia Zecchini) นักดำน้ำสาวชาวอิตาลี ผู้สร้างสถิติในการดำน้ำอิสระ (Freediving) เธอสามารถดำน้ำลึกลงได้ถึง 105 เมตร และอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 3 นาทีกว่า จนทำให้กลายเป็นผู้หญิงที่ดำน้ำได้ลึกที่สุดในโลก ย้อนไปในปี 2017 เซคคินิในวัย 25 ปี เธอเป็นคนหนึ่งที่อยากท้าทายตัวเองด้วยการดำน้ำลอดอุโมงค์ Blue Hole ด้วยลมหายใจเดียว แต่ขณะที่ดำลอดอุโมงค์อยู่นั้น เธอเกิดอาการสับสน เมื่อเห็นดังนั้น สตีเฟน คีแนน (Stephen Keenan) นักดำน้ำอาชีพวัย 39 ปี ผู้รับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้เธอ ก็รีบเข้าไปช่วยเหลือและพาเธอสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย แต่ตัวเขากลับหมดสติเสียเอง พบร่างไร้ลมหายใจของเขานอนคว่ำน้ำลอยน้ำห่างออกไป คีแนนถือได้ว่าเป็นนักดำน้ำที่เก่งที่สุดในธุรกิจดูแลความปลอดภัย การจากไปของเขายิ่งตอกย้ำถึงความอันตรายของ “Blue Hole” ในฐานะจุดดำน้ำที่อันตรายที่สุดในโลก

อเล็ก เฮย์ส

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ‘การดำน้ำเชิงเทคนิค’ ได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นการดำน้ำลึกโดยใช้ก๊าซพิเศษผสมเข้าไปในถังออกซิเจน การดำน้ำประเภทนี้ได้รับความนิยมตามอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘The Big Blue’ ของผู้กำกับ ลุค เบซง ที่ออกฉายเมื่อปี 1988 ทาเร็ค โอมาร์ เผยว่ายิ่งมีนักดำน้ำเทคนิคมาพิสูจน์ตัวเองที่นี่มากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงโต้แย้งว่า “Blue Hole มันไม่อันตรายขนาดนั้น” เป็นความเห็นจาก อเล็กซ์ เฮย์ส (Alex Heyes) ครูสอนดำน้ำวัย 32 ปี เธอย้ายมาจากเมืองเพรสตัน ประเทศอังกฤษ และมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ดาฮาบมาตั้งแต่ปี 2010 และเปิดโรงเรียนสอนดำน้ำ H20 เธอเป็นคนหนึ่งที่ดำน้ำลงไปยัง Blue Hole มานับครั้งไม่ถ้วน เธอมองว่ากลุ่มที่เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเป็นผลมาจากความ ‘โอหัง’ เป็นหลัก “พวกเขาดำน้ำกันมาเป็น 100 ครั้งแล้วไง ก็เลยคิดว่าตัวเองรู้เทคนิคต่าง ๆ หมดแล้ว แต่พวกเขาไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการดำลึกขนาดนั้น บางทีความรู้เพียงน้อยนิดก็เป็นเรื่องอันตรายได้นะ”

Blue Hole มองจากชายฝั่ง

เฮย์สเล่าต่อว่า นักดำน้ำหลายคนที่มาเสียชีวิตที่นี่เพราะพวกเขาพยายามว่ายน้ำลอดไปใต้ซุ้มประตู Blue Hole ซึ่งเปรียบเสมือนยอดเขาคิลิมันจาโรในหมู่นักปีนเขา “Blue Hole” อยู่ลึกลงไปใต้แนวกำแพงกั้นคลื่นอีก 56 เมตร ที่นี่จะมองเห็นเป็นแนวอุโมงค์ยาว 26 เมตร ทอดยาวจากปากทางเข้าไปยังมหาสมุทรเปิด ถ้าใครดำลึกลงไปอีก 100 เมตรก็จะพบกับช่องที่เปิดกว้าง 50 เมตร ที่ออกสู่ทะเลแดง “มันสวยงามมาก ไม่มีอะไรสวยงามได้เพียงนี้อีกแล้ว มันเหมือนเรายืนอยู่ท่ามกลางมหาวิหารใต้น้ำ”

แต่การอยู่ใต้น้ำลึกระดับนั้น บางครั้งมันก็ทำให้เราเกิดอาการสับสนได้ มีนักประดาน้ำบางคนบอกว่ามองเห็นแสงโผล่ออกมาจากภายในอุโมงค์ และเข้าใจว่านั่นคือแสงจากผิวน้ำ จึงว่ายเข้าไปหา ซึ่งการมองเห็นภาพลวงแบบนี้ เป็นไปได้ว่าเกิดจาก “ภาวะเมาไนโตรเจน” (nitrogen narcosis) เกิดจากการสูดเอาก๊าซไนโตรเจนเข้าไปปริมาณมาก ส่งผลต่อสภาพจิตและร่างกาย ดร. เจมส์ คารูโซ หัวหน้าผู้ตรวจทางการแพทย์ของเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด และนักดำน้ำตัวยง กล่าวว่า อาการง่วงซึมหลังสูดไนโตรเจนเข้าไปปริมาณมากนี้มีชื่อเรียกจำเพาะว่า “martini effect” เมื่อนักดำน้ำดำลึกลงไปเรื่อย ๆ ปริมาณความมึนเมาจะพิ่มขึ้นเหมือนกับเวลาที่เราดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก ๆ อาการนี้เหมือนกับการดื่มแอกอฮอล์ ซึ่งส่งผลกับแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่คารูโซก็ยืนยันว่า “ไม่มีใครรอดพ้นจากอาการนี้ ถ้านักประดาน้ำดำลึกลงไปในระดับหนึ่ง พวกเขาจะหมดสติ” เรียกอาการนี้ว่า “ออกซิเจนเป็นพิษ” อธิบายก็คือ เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะความกดดันที่สูง ก๊าซที่เราหายใจก็จะกลายเป็นพิษ แล้วใครก็ตามที่ยังหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปก็เรียกว่าตกอยู่ในภาวะอันตรายแล้ว

อีกมุมหนึ่งที่สวยงามของ Blue Hole

การดำน้ำลงไปชม “Blue Hole” นั้น จัดได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงและราคาแพง จำเป็นต้องใช้การฝึกฝนอย่างมาก และนั่นคือสาเหตุหลักที่มีนักประดาน้ำเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะพวกเขาไม่พอใจที่จะต้องผ่านการฝึกฝนหลายชั่วโมง อย่างที่โอมาร์กล่าวไว้ว่า “พวกเขาต้องการลงน้ำ ‘ลึก’ ก่อนที่พวกเขาจะมีความรู้ในเรื่องนี้อย่าง ‘ลึกซึ้ง’ “

นักดำน้ำชื่อดังอีกคนที่มาทิ้งชีวิตไว้ที่นี่ก็คือ ยูริ ลิปสกี้ (Yuri Lipski) หรือน่าจะกล่าวได้เลยว่า เขาคือนักดำน้ำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกที่มาเสียชีวิตที่ Blue Hole นี้ ลิปสกีเป็นครูสอนดำน้ำชาวรัสเซีย-อิสราเอล ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงการดำน้ำอย่างมากในยุค 2000s หลังจากเขาบันทึกนาทีที่เป็นจุดจบตัวเองผ่านกล้องติดศีรษะ

โอมาร์เล่าว่าเขาได้พบกับ ยูริ ลิปสกี้ หนึ่งชั่วโมงก่อนที่เขาจะดำลงไป “เขาบอกว่าผมว่าเขาจะลงไปถ่ายซุ้มประตู Blue Hole ผมก็บอกเขาว่า ‘โอเค แต่คุณจะต้องฝึกกับผม 2 อาทิตย์ก่อนนะ แล้วเราจะลงไปถ่ายภาพด้วยกัน’ “แต่ลิปสกี้มีเวลาแค่ช่วงสุดสัปดาห์นั้น เขาจึงปฏิเสธข้อเสนอของโอมาร์ แล้วดำลงไปคนเดียว

ภาพนาทีสุดท้ายของลิปสกี้บนยูทูบ มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 10 ล้านครั้ง เผยให้เห็นช่วงเวลาสุดท้ายของเขา แทบจะทันทีเลยหลังจากที่เขาพลัดหลงกับคู่หูของเขา แล้วเขาก็ดำลึกลงไปอย่างรวดเร็ว โอมาร์ประเมินสาเหตุว่า “ตัวเขาหนักเกินกว่าอุปกรณ์พยุงตัว” โอมาร์คิดว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำหนักของกล้องทำให้เสียสมดุล “พอเขาผ่านระดับ 80 เมตร เขาก็เผชิญกับอาการเมาไนโตรเจน จากนั้นท้องทะเลก็เข้าควบคุมร่างของเขาแล้ว” วิดีโอจบลงที่ 7 นาที เมื่อลิปสกี้ดึงอุปกรณ์ปรับแรงดันออกมา เช้าวันต่อมา โอมาร์ก็ไปนำร่างเขาขึ้นมาจากความลึกที่ 92 เมตร ด้วยเหตุนี้ โอมาร์จึงยืนยันเสมอว่าเขาไม่เคยเชื่อในเรื่องคำสาปของ Blue Hole เลย ตลอด 20 ปีมานี่ ที่เขาทำหน้าที่งมศพขึ้นมาจาก Blue Hole เขาก็เชื่ออย่างหนึ่งว่า “ผู้คนที่มาดำน้ำที่นี่ล่ะ ได้สร้างคำสาปสำหรับพวกเขาขึ้นมาเอง”

สารคดี The Deepest Breath ทาง Netflix

แน่นอนว่าเมื่อจำนวนนักดำน้ำเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ย่อมมีการออกมาตรการเพื่อความปลอดภัยเข้ามาคุมเข้ม แต่ก็ยังมีศูนย์ดำน้ำบางแห่งที่ยังฝ่าฝืนมาตรการปล่อยให้นักดำน้ำแบบถังเดี่ยวดำลงไปกันเอง แต่กลุ่มนี้ก็นับว่าเป็นส่วนน้อยที่ไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากนัก ทางการได้มีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของนักดำน้ำที่จะเข้าไปยัง Blue Hole ถ้าคุณสมบัติไม่ถึง พวกเขาจะถูกห้ามเข้าไป

วันนี้ทุกคนสามารถสัมผัสกับความน่าสะพรึงกลัวของ “Blue Hole” กันได้แล้วผ่านสารคดีเรื่อง ‘The Deepest Breath’ ที่สตรีมมิงทาง Netflix ที่ได้รับการยกย่องจากผู้ว่า ‘หนึ่งในสารคดีที่ดีที่สุด’ บางคนบอกว่าพวกเขารู้สึกอึดอัดและพยายามหายใจไปด้วยระหว่างที่ชมสารคดีเรื่องนี้

ที่มา : theguardian ladbible iflscience