นักวิจัยสร้างตัวอย่างเพลงคลาสสิกในปี 1979 ของ “Another Brick in the Wall” ของ Pink Floyd ขึ้นมาใหม่โดยใช้การทำงานของสมองที่บันทึกไว้ของผู้ฟัง

ด้วยการบันทึกและถอดรหัสการทำงานของสมองของผู้คนขณะที่พวกเขากำลังฟังเพลง “Another Brick in the Wall” ของ Pink Floyd นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างตัวอย่างบางส่วนของเพลงขึ้นมาใหม่

นักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ผลการทดลองออกมาเป็นคลิปเสียงจำนวนหนึ่ง บางคลิปเราก็ได้ยินเป็นเสียงที่เหมือน โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) กำลังร้องท่อนฮุกของเพลงออกมา แต่บางคลิปอาจจะฟังดูขุ่น ๆ และไม่ค่อยชัดเจนมากนัก

นักวิจัยกล่าวว่าการทดลอง “Another Brick in the Wall” นี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่สมองประมวลผลเพลงและซึ่งอาจนำไปพัฒนาจนมีแอปพลิเคชันในอนาคตที่จะเป็นส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ (BCIs) ที่ช่วยให้ผู้คนสื่อสารกันได้

การศึกษาก่อนหน้านี้ได้สามารถสร้างคำพูดที่เข้าใจได้ขึ้นใหม่โดยการถอดรหัสจากการทำงานของสมอง และการวิจัยแสดงให้เห็นว่าดนตรีสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้โดยใช้เทคนิคที่คล้ายคลึงกัน การทับซ้อนกันของโครงสร้างสมองที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลสัญญาณอะคูสติกที่ซับซ้อนทั้ง 2 ประเภทนี้ทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้

ในการศึกษาครั้งใหม่ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมาในวารสาร PLOS Biology นักวิจัยต้องการทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่ามนุษย์ประมวลผลดนตรีได้อย่างไรเพื่อใช้ในการพัฒนา BCIs ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สามารถคิดคำเป็นคำพูดได้ในสมองแต่ไม่สามารถพูดได้ทางร่างกาย เช่น ผู้ที่เป็นโรคล็อกอินซินโดรม (locked-in syndrome) อุปกรณ์ BCIs ดังกล่าวจะสามารถช่วยให้พวกเขาสื่อสารกันได้

สามารถลองเข้าไปฟัง “Another Brick in the Wall” เวอร์ชันถอดรัสคลื่นสมองได้ที่ livescience

ที่มา

livescience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส