อย่างที่ทราบกันดีว่า ณ เวลานี้ Warner Bros. Discovery ในฐานะบริษัทแม่ กำลังพยายามเร่งมือในการปรับปรุงแบรนด์ DC ของตัวเอง โดยเฉพาะการปรับองค์กรเข้าสู่ยุค DC Studios และการเร่งสร้างจักรวาล ใหม่ DC Universe หรือ DCU ที่จะมีการเริ่มต้นในเฟสแรก หรือที่เรียกว่า ‘Chapter 1’ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 เพื่อให้ทันต่อการต่อสู้ในยุคขาลงของหนังซูเปอร์ฮีโร และเพื่อแข่งขันกับค่ายคู่แข่งอย่าง Marvel Studios ของ Disney ได้อย่างเต็มกำลัง ไม่เพลี่ยงพล้ำเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษก่อน

แต่แม้ว่า Warner Bros. Discovery จะเป็นผู้ผูกขาดในลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ของ DC แต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์ฮีโรทั้ง ซูเปอร์แมน (Superman), แบทแมน (Batman), วันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) รวมทั้งบรรดาตัวละครวายร้าย เช่น โจ๊กเกอร์ (Joker) ที่สร้างเม็ดเงินให้กับองค์กรผ่านคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ มายาวนาน แต่ดูเหมือนว่า Warner Bros. ก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

เพราะในอนาคตอีกไม่นาน คาแรกเตอร์ซูเปอร์ฮีโรและวายร้ายบางตัวของ DC จะมีอายุลิขสิทธิ์ครบ 95 ปี ซึ่งจะทำให้คาแรกเตอร์ต่าง ๆ กลายมาเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) ตามเงื่อนไขกฏหมายลิขสิทธิ์ ‘Copyright Term Extension Act’ ของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ทั้งคาแรกเตอร์ วินนี-เดอะ-พูห์ (Winnie-the-Pooh) และคาแรกเตอร์ มิกกีเมาส์ (Mickey Mouse) จากภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘Steamboat Willie’ (1928) ของบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ที่ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้ว

Batman v Superman Dawn of Justice

คาแรกเตอร์ของ DC ที่กำลังจะมีอายุครบ 95 ปี และกำลังจะกลายมาเป็นสาธารณสมบัติต่อไปก็คือ คาแรกเตอร์ Superman และ ลูลิส เลน (Lois Lane) ภรรยาของซูเปอร์แมน ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1938 จะมีอายุครบตามเงื่อนไขในปี 2034 ส่วนคาแรกเตอร์ Batman ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1939 จะมีอายุครบ 95 ปีในปี 2035 ตามมาด้วยตัวละครวายร้ายของแบทแมนอย่าง Joker ที่จะกลายเป็นสาธารณสมบัติในปี 2036 และซูเปอร์ฮีโรหญิง Wonder Woman ที่จะมีอายุครบ 95 ปี ภายในปี 2037 ซึ่งจะทำให้ผู้สร้างสรรค์สามารถหยิบตัวละครเหล่านี้ไปเผยแพร่ซ้ำ และทำใหม่ได้อย่างอิสระ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สร้างสรรค์ก็ไม่สามารถใช้องค์ประกอบบางอย่างได้ทั้งคำว่า ‘Man of Steel’ (บุรุษเหล็ก) ที่สื่อถึง Superman และคำว่า ‘Caped Crusader’ (มือปราบใต้ผ้าคลุม) ที่สื่อถึง Batman รวมทั้งสัญลักษณ์ตัว S ของซูเปอร์แมน และสัญลักษณ์ค้างคาวของแบทแมนในเวอร์ชันต่าง ๆ ได้ เนื่องจากองค์ประกอบทั้งหมดนี้ถือเป็นเครื่องหมายการค้าอันมีลิขสิทธิ์ของ Warner Bros.

คริส ซิมส์ (Chris Sims) นักเขียนการ์ตูนคอมิก และผู้เชี่ยวชาญด้านแบทแมน ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำคาแรกเตอร์มาใช้ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้สร้างสรรค์หลายราย พยายามจะดัดแปลงคาแรกเตอร์ที่กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้วออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง แดรกคูลา (Dracula), โรบินฮูด (Robin Hood), กวางน้อยแบมบี (Bambi) วินนี-เดอะ-พูห์ และ ‘Steamboat Willie’ ที่ตอนนี้กลายมาเป็นคอมิก แอนิเมชัน วิดีโอเกม การ์ดเกม หนังสยองขวัญ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางทศวรรษ 2030 เราอาจจะได้เห็นคาแรกเตอร์ซูเปอร์ฮีโรที่มาจากค่ายเล็กค่ายน้อยอีกมากมาย

“ตอนนี้น่าจะมีคาแรกเตอร์ประมาณ 100 ตัวที่พร้อมจะออกจากลิขสิทธิ์แล้ว ซึ่งคุณสามารถใช้ Batman ได้นะ แต่คุณจะใช้ โรบิน (Robin) ไม่ได้ คุณใช้ Superman ได้ แต่คุณจะไม่ได้คริปโตไนต์ไป”

อะแมนดา ชไรเยอร์ (Amanda Schreyer) ทนายความด้านสื่อและความบันเทิงของสำนักงานกฎหมายมอร์ส (Morse) อธิบายเพิ่มเติมว่า “ซูเปอร์แมนในตอนเริ่มแรก ทำได้เพียงแค่กระโดดเท่านั้น แต่บินไม่ได้ ในขณะที่สัญลักษณ์ค้างคาวเป็นเครื่องหมายที่แข็งแรงมาก” ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นอีกข้อจำกัดที่ผู้สร้างสรรค์ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หากไม่ต้องการมีปัญหาด้านเงื่อนไขทางกฏหมายที่อาจถูกตีความว่าละเมิดลิขสิทธิ์

Batman v Superman Dawn of Justice

สิ่งที่ผู้สร้างสรรค์พึงกระทำคือ การไม่นำเอาคาแรกเตอร์ หรือเครื่องหมายการค้าอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้ในลักษณะหลอกลวง หรือสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นคาแรกเตอร์หรือผลงานนั้น ๆ มาจากผู้สร้างดั้งเดิม

ซึ่งหากผู้สร้างสรรค์รายใดอยากต้องการจะทำหนังสยองขวัญเกี่ยวกับ Superman หรือ Batman สิ่งที่ต้องทำคือการระมัดระวังเกี่ยวกับวิธีการโปรโมต การใช้ภาพลักษณ์ของซูเปอร์ฮีโรตัวนั้น ๆ รวมทั้งการสร้าง Branding ไม่ให้มีความคล้ายคลึง หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดจากคาแรกเตอร์ที่ DC ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่มาใช้งานโดยเด็ดขาด

ที่ผ่านมา DC เองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ในระหว่างงานแถลงข่าวในปี 2023 เจมส์ กันน์ (James Gunn) ผู้บริหารของ DC Studios ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่องค์กรสูญเสียคาแรกเตอร์ฮีโรตัวหลัก ๆ (เวอร์ชันเก่าแก่) ที่กำลังจะหมดอายุลิขสิทธิ์ลง นอกจากการพยายามปรับเปลี่ยนลักษณะทางวรรณกรรม และลักษณะภายนอกของคาแรกเตอร์เวอร์ชันดั้งเดิม และรักษาเครื่องหมายการค้าเอาไว้ให้ได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การพยายามสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนด้วย

“มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก มันไม่ได้แค่อยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้น แต่มันมีเรื่องของเทคนิค ที่ต้องมาดูว่าผลงานไหนที่กลายเป็นสาธารณสมบัติจริง ๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่คุณรู้และไม่รู้ ฉะนั้น นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามี Superman แต่เราก็พยายามจะผลักดัน ‘The Authority’ เข้าสู่จักรวาลด้วย ผมหมายถึง ใครจะไปคิดว่าเมื่อ 11 ปีก่อน คาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็คือ ‘Guardians of the Galaxy’ น่ะ”

“คาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเหล่านั้น มีพื้นฐานมาจากการ์ตูนที่มีคนรู้จักแค่ 20,000 คน ดังนั้น เราจึงพยายามสร้างคาแรกเตอร์อื่น ๆ จากสมบัติที่เรามี ทั้ง Batman, Superman หรือ Wonder Woman เพื่อมาเป็นตัวชูโรงให้กับ บูสเตอร์โกลด์ (Booster Golds), กรีนแลนเทิร์น (Green Lanterns), พลาสติกแมน (Plastic Man) หรือคาแรกเตอร์ที่มีความสำคัญตัวอื่น ๆ ด้วย”


ที่มา: Variety, Insider, Comicbook

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส