เรื่องย่อ

Period. End of Sentence คือหนังสารคดีขนาดสั้นที่เพิ่งคว้าออสการ์ในครั้งล่าสุดนี้ไป เรื่องราวของประจำเดือนที่เป็นเรื่องธรรมชาติของผุ้หญิงทั้งหลาย แต่ทว่าในสังคมอินเดียบ้านเกิดของ ผกก. นั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะมันคือเรื่องน่าอับอายทั้งยังถูกตีเป็นบาปเสียด้วย แล้ววันหนึ่งผู้หญิงในหมู่บ้านก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่นี้ด้วย การพิชิตประจำเดือน เพื่อพิชิตความเหลื่อมล้ำทางเพศด้วย

หนังสารคดีเรื่องนี้ว่ากันทางเทคนิคสารคดีแล้วก็แทบไม่ได้หวือหวาแปลกใหม่อย่างไร หนังใช้การถ่ายติดตามผู้หญิงแต่ละคนในหมู่บ้านแล้วตัดต่อเล่าเรื่อง แต่ความเด็ดขาดของมันคือเรื่องราวสุดอัศจรรย์ใจที่จะว่าไปเอาสร้างหนังใหญ่ดราม่าฟีลกู้ดได้สบายเลยด้วย เอาว่าแค่ชื่อเรื่องก็น็อกคนดูได้แล้วเพราะมันลงตัว สื่อความ ทรงพลัง มีลูกเล่น เรียกว่าหมัดหนักตั้งแต่ชื่อเลย

Period (n) จุดท้ายประโยค, ช่วงมีรอบเดือน

Sentence (n) ประโยค, การพิพากษา

ชื่อหนังจึงมีสองความหมายที่สื่อความได้ทั้งคู่ คือ ‘จุด บอกความสิ้นสุดของประโยค’ และ ‘ประจำเดือน จุดสิ้นสุดของการพิพากษา (เพศหญิง)’ ความหมายแรกเป็นข้อเท็จจริงว่าในภาษาอังกฤษใช้ จุด (.) ในการปิดท้ายประโยคแต่ละประโยค ขณะที่ความหมายหลังสื่อความตามหนังเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรื่องประจำเดือนที่เป็นอุปสรรคทั้งชีวิตและทั้งทางสังคม ซึ่งการต่อสู้นี้จะกลายเป็นการหยุดการพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมต่อเพศหญิงในเรื่องนี้ด้วย และเมื่อล้อกับความหมายแรก มันก็เหมือนผู้กำกับกำลังบอกเรากลาย ๆ ว่า

ถ้าความหมายแรกเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ ความหมายหลังก็เป็นจริงได้เช่นเดียวกัน

สารคดีมีความยาวเพียง 26 นาที แถมมีให้ดูในเน็ตฟลิกซ์เสียงฮินดีตามต้นฉบับพร้อมซับไทยเรียบร้อยด้วย (ขอสารคดียาวรางวัลออสการ์เรื่อง Free Solo ด้วยดิค้าบ 55) หนังเป็นการกำกับของ เรย์ก้า สีห์ตาบจิ เด็กสาวที่หมู่บ้านของเธอกำลังมีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้น และมันอาจเป็นพลังของโดมิโนตัวแรกที่จะล้มกำแพงความเชื่อด้วย

ระหว่างที่ดูมีความรู้สึกเหมือนได้ดูโฆษณาด้านการพัฒนาสังคมเก๋ ๆ จากเมืองคานส์ไลออนเหมือนกัน เพราะเรื่องเปิดด้วยปัญหาว่า ประจำเดือนเป็นเรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรพูดในสังคมอินเดีย โรงเรียนไม่กล้าสอน พวกผู้ชายไม่เข้าใจ (เด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่งบอกว่าคือไข้ชนิดหนึ่งด้วย?) นักบวชในศาสนาบอกว่าเป็นบาปด้วยซ้ำ (ผู้หญิงมีประจำเดือนห้ามเข้าศาสนสถาน) ซึ่งฟังถึงตรงนี้ก็มีหลาย ๆ อย่างคล้าย ๆ บ้านเราเลยนะ แต่ความต่างของอินเดียในเรื่องคือ พวกผู้หญิงถูกปิดกั้นจากความรู้ในการจัดการ หลายคนถูกสอนให้ใช้เศษผ้าที่หาได้ใกล้มือซับเอา และผู้หญิงอินเดียมีอัตราการใช้ผ้าอนามัยไม่ถึง 10% ของทั้งประเทศด้วย ปัญหาหนึ่งคือความอาย ความไม่รู้ อีกปัญหาหนึ่งคือฐานะการเงิน เพราะผ้าอนามัยมีราคาแพงแถมเป็นสินค้าสิ้นเปลืองด้วย ซึ่งการเงินคือเรื่องที่ทำลายศักดิ์ศรีของผู้หญิงที่ถูกมองว่าต้องพึ่งพาผู้ชายทั้งจากพ่อ หรือหลังแต่งงานก็จากสามี แล้วทั้งหมดทั้งมวล

ก็ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าฝันที่จะโบยบินออกจากกรงที่ผู้ชายกำหนด ทั้งจากที่บ้าน ที่วัด และที่ทำงาน

แล้ววันหนึ่งบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนี้ ก็ได้ติดตั้งเครื่องทำผ้าอนามัยแบบประหยัดสไตล์ OTOP ขึ้น พร้อมชวนพวกผู้หญิงในหมู่บ้านมาทั้งใช้ และร่วมกันเป็นแรงงานผลิตส่งขายกัน ซึ่งกลายเป็นว่า มันแก้ปัญหาที่ว่ามาก่อนหน้าได้แทบทั้งหมดเลย ทั้งผู้หญิงได้ใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัยและไม่ต้องกังวลสายตาจับผิดของพวกผู้ชายที่เห็นเป็นเรื่องสนุกเรื่องตลก พวกเธอมีรายได้ให้ภูมิใจรู้สึกมีคุณค่า และยังได้รับการนับถือจากสามีด้วย และเมื่อต้องนำสินค้าออกขายก็ทำให้พวกเธอกล้าพูดกล้ามีสิทธิ์มีเสียงต่อหน้าผู้ชายมากขึ้น ตอบทุกปัญหาจริง ๆ (ยกเว้นเรื่องศาสนา – ตอกย้ำว่าเป็นปัญหาที่แก้ยากสุดในโลก)

และยังตอบโจทย์ออสการ์ทั้ง พลังหญิง และความบันเทิงดูง่าย ฟีลกู้ด สร้างแรงบันดาลใจด้วย

หนังสร้างพลังใจในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อแก้ปัญหา แถมดูสนุกระดับหนึ่งเลยด้วย ได้เห็นภาพชนบทอินเดียในรายละเอียดที่แปลกใหม่ และแน่นอนไม่บ่อยหรอกที่เราจะได้ดูสารคดีสั้นรางวัลออสการ์ในแบบซับไทย ดังนั้นนี่คือความพิเศษที่นาน ๆ จะมีให้ดูสักทีเลยเชียวล่ะ

ใครเป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์กดดูที่นี่เลย https://www.netflix.com/watch/81074663