ตลอดระยะที่ Isuzu เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1957 เป็นเวลานานกว่า 67 ปี ที่ทำให้ Isuzu ครองใจผู้ใช้งานคนไทย โดยเฉพาะโมเดลกระบะอย่าง D-Max หลังจากการเปิดตัวในปี 2002 ปัจจุบันไทยสามารถผลิต D-Max ได้มากกว่า 6 ล้านคัน และส่งออกมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ในปี 2024 นี้เองที่ Isuzu จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ พร้อมทั้งนำเสนอโซลูชันอันหลากหลายเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน

Multi-pathways to Carbon Neutrality

Isuzu นำเสนอนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในชื่อ Multi-pathways to Carbon Neutrality ทั้งในแง่ของการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ รวมถึงการจัดการภายในองค์กร และกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นทางทางคาร์บอนในปี 2030 และคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 นั่นเอง ซึ่งนโยบายดังกล่าวนำมาสู่การเปิดตัวรถพลังงานใหม่ ที่ไม่ใช่แค่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว. แต่ยังรวมไปถึงรถบรรทุกไฟฟ้าสลับแบตเตอรี่ได้ และรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนอีกด้วย โดยจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตกระบะไฟฟ้าภายในปี 2025 ก่อนที่จะส่งออกไปยังโซนยุโรป และจะทยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ภายหลัง

The EARTH Lab

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์อันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยยอดการผลิตสูงถึง 1.9 ล้านคันต่อปี สูงที่สุดในอาเซียน และคิดเป็นอันดับที่ 10 ของโลกเลยทีเดียว แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 39.3% และส่งออกต่างประเทศ 60.7% ซึ่งในปี 2023 มีการส่งออกรถยนต์คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 973,000 ล้านบาท และรถที่ผลิตและส่งออกมากที่สุดคือกระบะที่มีตัวเลขสูงถึง 736,383 คัน หรือ 70% จากรถทุกเซกเมนต์นั่นเอง

จุดเริ่มต้นสู่พลังงานทางเลือกของ Isuzu สะท้อนผ่าน The EARTH Lab ศูนย์พัฒนาและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ที่ Isuzu ควักเงินลงทุนเม็ดใหญ่กว่า 240,000 ล้านบาท ในการวิขัยและพัฒนารถพลังงานใหม่ รวมถึงการปฏิรูปทางดิจิทัลเกี่ยวกับความเป็นการทางคาร์บอนและโลจิสติกส์ (CN and logistics DX) ภายในปี 2026

รถ xEV 4 รุ่น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Isuzu ขาดไม่ได้เลยกับรถรุ่นใหม่ที่จะมาดำเนินรอยตามแผน Multi-pathways to Carbon Neutrality โดยเริ่มต้นจากรถ 4 รุ่นนี้ ได้แก่

Isuzu D-Max EV Concept กระบะไฟฟ้า 4 ประตู ขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อตลอดเวลา ซึ่งใช้แพลตฟอร์มเดียวกับ D-Max ดีเซลทั่วไป มาพร้อมชุดมอเตอร์คู่ กำลังรวม 130 kW แรงบิดสูงสุด 325 นิวตันเมตร และชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 66.9 kWh ทำความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. รองรับการทำงานของชุดเฟืองหน้าหลังใหม่ eAxle สามารถลากจูงน้ำหนักสูงสุด 3.5 ตัน ซึ่งจะเริ่มการผลิตในประเทศไทย (ใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่า 90%) ภายในปี 2025 ก่อนจะส่งออกขายในโซนยุโรป และทยอยขายในภูมิภาคอื่น ๆ ตามมา

Isuzu D-Max Hi-Lander MHEV รถกระบะไฮบริดที่ทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก พร้อมแบตเตอรี่ 48V ช่วยเสริมกำลังเครื่องยนต์ ทำให้ประหยัดมากขึ้น ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

Isuzu Elf EV รถบรรทุกไฟฟ้า สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม I-MACS (Isuzu Modular Architecture and Component Standard) สำหรับรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถแยกประกอบส่วนต่าง ๆ ของตัวรถได้เหมือนกับการต่อเลโก้ ทำให้สามารถพัฒนารถได้หลากหลายรุ่นและใช้เวลาในการผลิตไม่นานนัก

การออกแบบตัวรถบรรทุกใช้เทคนิคที่เรียกว่า Center Drive System EV หรือการวางมอเตอร์ตรงกลางแชสซีเพื่อความสมดุลและกระจายน้ำหนักตัวรถ ตัวรถบรรทุกจะมาพร้อมกับมอเตอร์ขับเคลื่อนล้อหลัง กำลังสูงสุด 150 kW แรงบิด 370 นิวตันเมตร และชุดแบตเตอรี่ 100 kWh รองรับการบรรทุกน้ำหนักสูงสุด 7.5 ตัน ขับขี่ได้ไกล 250 กม.ต่อการชาร์จ นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกเทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 2-5 ก้อน (ก้อนละ 20 kWh) ได้อีกด้วย

Isuzu Elf FCEV รถบรรทุกขนาดกลางพลังงานไฮโดรเจน ได้เริ่มมีการทดสอบวิ่งจริงบนถนนตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองก็มีวิ่งทดสอบู่ 4 คันเช่นกัน ตัวรถจะมาพร้อมถังบรรจุไฮโดรเจนขนาด 10.5 กก. พร้อมแบตเตอรี่ขนาด 109 kWh สามารถขับขี่ได้ไกล 260 กม. ต่อการเติมเชื้อเพลิง รองรับการบรรทุกน้ำหนักสูงสุด 7.5 ตัน แต่ทำความเร็วได้สูงสุด 80 กม./ชม.

น้ำมันสังเคราะห์

ไม่ใช่เพียงแต่ตัวรถเท่านั้นที่ทาง Isuzu มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ มิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ยังได้จับมือกับ ปตท. เพื่อทดสอบน้ำมัน HVO น้ำมันไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่จากพืชใช้แล้ว ซึ่งจะมีการทดสอบใช้จริงเป็นครั้งแรกในไทยประมาณเดือนมิถุนายน รวมถึงความร่วมมือกับมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ศึกษาวิจัยน้ำมัน e-fuel ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้งานกับรถสันดาปทั่วไปได้ จะมีการทดสอบภายในเดือนสิงหาคมต่อไป

และนี่การดำเนินธุรกิจของ Isuzu นับตั้งแต่ปี 2024 ไปจนถึง 2030 เพื่อเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนถึงปี 2065 เพื่อการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้จริง ผู้ใช้งานอย่างเราคงต้องเอาใจช่วยและให้กำลังใจกันต่อไป