วันนี้ต้าร์อยู่กับ ROG Strix Scar 15 หรือในรหัสรุ่น G543ZW โน้ตบุ๊กเกมมิงที่พกสเปกมาแบบโหดจัด ๆ กับ NVIDIA® GeForce RTX™ 3070Ti และซีพียู Core i9-12900H แพ็กคู่มาแบบนี้ ก็สวยสิ! เดี๋ยวลองให้ดูเลยว่า จะเล่นเกมลื่นแค่ไหน และถ้าตัดต่อล่ะ จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวต้าร์ #beartai ลองให้ดูแบบละเอียด!

สเปก

ถ้าพูดถึงโน้ตบุ๊กเล่นเกม ก็ต้องคุยเรื่องสเปกกันก่อนครับ ROG Strix Scar 15 รุ่นที่ต้าร์ได้มารีวิวเป็นตัวเริ่มต้น ใช้การ์ดจอตัวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไป อย่าง NVIDIA® GeForce RTX™ 3070Ti โดยมีแรมในตัวแบบ GDDR6 อยู่ที่ 8GB และยังมี MAX TGP หรืออัตราการใช้ที่ 150W ด้วยครับ ปัจจุบันถ้ายิ่งวัตต์เยอะก็แปลว่าการ์ดจอยิ่งแรงครับ

โดยผลทดสอบด้านกราฟิกจาก 3DMark ชุด Time Spy ก็ทำคะแนนได้ไป 11868 คะแนน ส่วนการทดสอบ Ray tracing ด้วย Port Royal ก็ได้คะแนนไป 7016 คะแนน ถือเป็นคะแนนที่สูงอยู่นะครับ

ด้านซีพียูก็จะเป็น Core i9-12900H ตัวแรงรหัส H ที่เพิ่งเปิดตัวไปเช่นกัน สำหรับแรมก็ให้มาเป็น DDR 5 แรงกว่า DDR4 ราว ๆ 50% โดยมีขนาดอยู่ที่ 16GB ซึ่งสามารถอัปเกรดได้สูงสุด 64GB ครับ

ส่วน SSD ก็มีขนาดอยู่ที่ 1TB โดยเป็นแบบ PCIe 4.0 ที่เร็วกว่า PCIe 3.0 ในโน้ตบุ๊กเกมมิงทั่วไปครับ ผลทดสอบจาก CrystalDiskMark ด้านการเขียนจึงเร็วถึง 6542 MB/s และการเขียนเร็วถึง 4992 MB/s เลยครับ และยังอัปเกรดเพิ่มได้อีก 1 ช่องด้วยนะครับ

หน้าจอ

หน้าจออันนี้เป็นแบบ IPS 15.6 นิ้ว 300Hz พร้อมกับ Response Time 3ms (มิลลิวินาที) เล่นเกม FPS ได้ลื่น ๆ เลย สำหรับการแสดงสีสัน ก็เป็นแบบ 100% sRGB ที่เพียงพอกับการใช้เล่นเกม หรือกราฟิกเบื้องต้นครับ แต่ถ้าจะดูหนังก็มี Dolby Vision และ Dolby Atmos ที่ยกระดับภาพและเสียงให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยนะครับ

เริ่มด้วย Cyberpunk 2077 เกมที่สามารถโชว์ความอลังการของ Ray Tracing และ DLSS ได้ในเวลาเดียวกันครับ ในการตั้งค่าวิดีโอต้าร์จะปรับเป็น Ray Tracing Ultra ทั้งหมดเลยครับ FPS ที่ทำได้จะอยู่ราว ๆ 50-60 fps ความดีงามของ Ray Tracing ก็คือแสงและภาพสะท้อนจะดูสมจริงยิ่งขึ้นครับ

ต่อด้วยเกมแนวชูตติ้งอย่าง Apex Legend อันนี้ต้าร์เคยเล่นบ่อยก็เลยรู้ว่าเกมนี้ต้องลื่นครับ ไม่ลื่นยิงยาก สำหรับการตั้งค่าสูงสุด FPS เฉลี่ยที่ทำได้อยู่ที่ 140 fps สำหรับการตั้งค่าสูงทุกอย่าง บวกกับเปิด NVIDIA Reflex ต้าร์ว่าลื่นเลยครับ

สุดท้ายเป็นสุดยอดเกมหัวร้อนแห่งปี Elden Ring หยอกๆ เกมเขาดีจริง ๆ ภาพสวยมาก สำหรับ FPS ที่เกมนี้ทำได้ 60fps นิ่ง ๆ เลยครับ เกมนี้ถ้าเฟรมดรอปนี่โดนบอสหวดตัวแตกแน่นอน!

จริง ๆ มีอีกหลายเกมที่ต้าร์เทสมาแล้วอย่าง GTA:V Five M หรือ PUBG ก็สามารถเล่นได้สบาย ๆ FPS เกิน 100 แน่นอนครับ หรือถ้าจะสตรีมไปเล่นไปก็ทำได้นะครับ

ทีนี้มาลองกับงานตัดต่อดูบ้างครับ นี่คือโปรเจกต์ Premiere Pro ความละเอียด 4K 50fps แบบ 10 bits เอาจริง ๆ ถ้าเครื่องไม่แรงจะมีอาการกระตุกให้เห็นเวลา Playback ครับ แต่สเปกตัวนี้แรงพอ ก็เลยลื่น ๆ โดยไม่ต้อง Proxy เลย ส่วนการใส่เอฟเฟคก็ทันทีเลยครับ และถ้าจะ Export คลิปนี้ 8 นาทีครึ่ง ก็ใช้เวลาประมาณ 7 นาที 16 วิ ถือว่าเร็วกว่า Real-time อีกนะครับเนี่ย ถ้าใครเอาไปตัดต่อผมบอกเลยว่าสบาย

การระบายความร้อน

เล่นเกมไปแล้ว ตัดต่อไปแล้ว เราก็ต้องมาดูเรื่องระบายความร้อนกันบ้างครับ ROG Strix Scar 15 ตัวนี้ใช้ Liquid Metal ของ Thermal Grizzly Conductonaut Extreme ที่สามารถนำความร้อนได้ดีกว่าซิลิโคลนทั่วไป บวกกับมีไปป์ 6 เส้นและพัดลม 2 ตัว ทำให้ความร้อนเวลาทดสอบหรือเล่นเกม ก็จะอยู่ราว ๆ 70-80 องศาครับ ถือว่าเย็นมากนัก

ดีไซน์

ทีนี้มาดูเรื่องดีไซน์กันบ้างครับ ต้องบอกว่าหน้าตาของ ROG Strix Scar 15 ต่างจากรุ่นปี 2021 ไม่มากครับ ฝาหลังยังมีเส้นตัดทแยงอยู่ครับ แต่ไม่มีลวดลายของ Dot Matrix แล้วครับ แอบติดรอยนิ้วมือง่ายเหมือนเดิม

ส่วนโลโก้ก็มีไฟ RGB เหมือนเดิมครับ แต่จะเป็นไฟตัดขอบแบบนี้ครับ สำหรับกิมมิกอย่าง ROG Armor Cap ก็ยังมีอยู่ครับ ถอดเปลี่ยนได้ 3 สี ไฟวิบวับสำหรับเกมเมอร์หัวใจ RGB ก็มีให้รอบเครื่องครับ รวมถึงคีย์บอร์ดด้วยครับ

พูดถึงคีย์บอร์ดก็ยังมีดีไซน์ที่มองทะลุเห็นแผงวงจรได้ครับ แต่ที่น่าเสียดายคือ ตัวคีย์เป็นปุ่มธรรมดา กดแล้วไม่ได้มีเสียงแกรก ๆ เหมือนกับตัว Optical Mechanical อย่างในรุ่นก่อนหน้าปี 2021

แต่ทัชแพดของ ROG Strix Scar 15 ในปีนี้ใส่ NumPad มาให้ในตัวครับ กดค้างไว้เพื่อเรียกใช้ได้แบบนี้ ดีกับคนที่ต้องพิมพ์ตัวเลขบ่อย ๆ ครับ

ส่วนอีกหนึ่งกิมมิกที่ต้องพูดถึงก็คือ ROG Keystone เวอร์ชั่น 2 ที่ใช้บันทึกการตั้งค่าของเครื่อง เผื่อถอดไปเสียบเครื่องอื่น ทำให้ไม่ต้องตั้งค่าใหม่ครับ และเขาก็ยังแถมพวงกุญแจมาให้ไว้เก็บด้วยนะ!

สำรวจพอร์ตรอบเครื่องกันต่อครับ ที่ฝั่งซ้ายจะมี ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และช่อง USB-A 3.2 Gen 2 สองพอร์ตครับ

ส่วนด้านหลังจะมีช่อง Thunderbolt™ 4 และ USB-C 3.2 Gen 2 ครับ ทั้งคู่จะรับส่งข้อมูลได้ ชาร์จหรือแชร์แบตเตอรี่ได้ รวมถึงต่อหน้าจอแยกได้ด้วยครับ

ช่องถัดมาจะเป็น HDMI 2.1 ที่ต่อจอแยกความละเอียด 8K ได้ถัดมา เป็นช่องเสียบสาย LAN แบบ 2.5G ที่รับเน็ตเร็วถึง 2.5Gbps ได้ บ้านใครติดเน็ตแรง ๆ แนะนำให้ลองครับ! ถัดมาสุดท้าย เป็นช่องเสียบไฟ กับอะแดปเตอร์ขนาด 280W

เรื่องพอร์ตอันนี้ต้าร์ว่าให้มาน้อยไปหน่อยครับ ยังขาดช่องอ่าน SD Card ที่สาย Production ต้องใช้อันนี้น่าจะใส่มาให้ด้วยครับ ถ้าต้องใช้งานจริงๆ อาจจะต้องหา card reader มาต่อเพิ่มเอาครับ

ด้านการเชื่อมต่อไร้สายอันนี้เขาก็ให้มาเป็น WiFi-6E มาตรฐานใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมา พร้อมกับ Bluetooth 5.2 ที่รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิมครับ

ส่วนซอฟต์แวร์ภายในก็มีให้มาเป็น Windows 11 Home เลย และยังมี MyASUS ที่ใช้ตรวจสอบเครื่องว่า ส่วนไหนมีปัญหา รวมถึงอัพเดทไดร์เวอร์และไบออสให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ แถมยังเชื่อมต่อกับมือถือเพื่อเอามาใช้เป็นกล้อง Webcam ได้ด้วยนะครับ

นอกจากนี้ยังมี Armoury Crate สำหรับสายเกมมิง ที่ไว้ปรับแต่งประสิทธิภาพต่าง ๆ ของเครื่อง รวมถึงปรับไฟ RGB วิบวับ ๆ ด้วยนะครับ และยังมี Two-Way AI Noise Cancelation ไว้ตัดเสียงรบกวนด้วยนะครับ เปิดแล้วเสียงรบกวนก็จะหายไปแบบนี้เลย

ข้อสังเกต

ฟังข้อดีกันไปเยอะแล้ว มาคุยเรื่องข้อสังเกตกันบ้างครับ จากที่ใช้มา ต้าร์เจออยู่สองเรื่องครับ หนึ่งราคาประมาณนี้ต้าร์ว่าควรจะได้คีย์บอร์ดเป็น Mechanical เหมือนรุ่นก่อนหน้านะครับอันนี้น่าเสียดาย ส่วนอีกเรื่องคือ Keystone หลุดง่าย ถ้าเผลอเอามือไปโดน มีโอกาสหล่นหายครับ แนะนำว่าถ้าไม่ได้ใช้ก็ถอดเก็บไว้ได้ครับ

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

ROG Strix Scar 15 รุ่นปี 2022 กับสเปก NVIDIA® GeForce RTX™ 3070Ti และ Core i9-12900H แรม 16GB ความจุ 1TB จะมีค่าตัวอยู่ที่ 84,990 บาทครับ

โดยจะมี ASUS Exclusive Care ที่ประกอบด้วย Perfect warranty ประกันอุบัติเหตุใน 1 ปีแรก และ On-site Service ประกันซ่อมถึงที่ตลอด 3 ปี ส่วนใครที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ ก็มี Global Warranty ที่ยกเครื่องไปซ่อมศูนย์ ASUS ได้57 ประเทศทั่วโลก 3 ปีเช่นกันครับ

ใครที่สนใจผมจะขึ้นลิงก์ข้อมูลไว้ให้ในแคปชันนะครับ ส่วนต้าร์ ขอตัวไปหวดบอส Elden Ring ก่อนนะครับ!