ในงานเปิดตัว Intel เคลมว่าซีพียู Intel® 12th Generaiton (อ่านว่า: เจเนอเรชันที่ 12) รหัส H-Series เกิดมาเพื่อเหล่าเกมเมอร์และสตรีมเมอร์! คำถามคือทำไม Intel ถึงกล้าเคลมแบบนี้ เดี๋ยวในคลิปนี้ผมจะมา #beartai แบบเข้าใจง่าย ๆ

แต่เดิมซีพียูสำหรับพีซี จะออกแบบโครงสร้างภายในให้มีแกนประมวลผลหรือคอร์ (Core) แบบขนาดเดียว จะงานหนัก งานเบา ก็ต้องวิ่งผ่านที่เดียวกัน ซึ่งปัญหาที่เกมเมอร์เจอคือ ถ้าเล่นเกมแล้วต้องเปิดโปรแกรมอื่น ๆ พร้อมกัน ถ้าซีพียูไม่แรงพอ มันจะดึงให้เกมลื่นไหลน้อยลง หรือทำให้ FPS ดรอป เพราะต้องแบ่งกันประมวลผล

เทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ก็เหมือนถนนในไทย ที่มีทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ วิ่งสลับ ๆ กันไป

แต่พอเป็น 12th Generation หรือโค้ดเนม Alder Lake ทาง Intel ก็ออกแบบวงจรภายในใหม่ให้มีความ Hybrid มากขึ้น ด้วยทำคอร์สองขนาด นั่นก็คือ “คอร์ใหญ่” Performance-Core หรือที่เรียกว่า P-Core เอาไว้รับงานหนัก ๆ เช่น การเล่นเกม การตัดต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังมี “คอร์เล็ก” Efficient-Core หรือที่เรียกกันว่า E-Core ไว้รับงานเบา ๆ เช่น ตอนเปิดเว็บ เล่นเฟส ส่งอีเมล์ คุยกับเพื่อนในดิสคอร์ส รวมถึงการสตรีมมิง

เทียบให้เห็นภาพ คอร์ใหญ่ก็คือถนนสำหรับรถยนต์ และคอร์เล็กก็เหมือน ถนนสำหรับมอเตอร์ไซค์ ต่างคนต่างวิ่งในทางของตัวเอง โดยมีระบบหนึ่งที่ชื่อ Intel Thread Director เป็นคนจัดการ

แล้วคำถามคือ คอร์ใหญ่ คอร์เล็ก มันดีกับการเล่นเกมตรงไหน? แน่นอนว่าเกมเมอร์ไม่ได้เปิดแค่เกมอย่างเดียว แต่เปิดแบบ Multi-task เปิดโปรแกรมอื่น ๆ ไปพร้อมกัน เช่นเปิดดิสคอร์สไว้คุยกับเพื่อน หรือเปิด OBS ไว้สตรีมเกมครับ การที่ซีพียู Intel 12th Gen มีคอร์สองแบบ จะช่วยให้สามารถเล่นเกม และเปิดโปรแกรมอื่น ๆ ไปพร้อมกันได้อย่างลื่นไหล

พูดอย่างเดียวอาจจะไม่เห็นภาพ เดี๋ยวผมลองเทสให้ดูครับ โน้ตบุ๊กที่ผมใช้รุ่นนี้คือ MSI Raider GE76 ที่ใช้ซีพียู Intel® Core™ i9-12900HK Processor มาพร้อม 6 P-Core และ 8 E-Core ถือว่าแรงสำหรับเกมมิงโน้ตบุ๊ก และที่สำคัญ เป็นรหัส K หมายความว่าโอเวอร์คล็อกได้ ส่วนการ์ดจอเป็น RTX 3080 Ti, แรม DDR5 ขนาด 32GB และ SSD PCIe 5.0 ขนาด 1TB

ยกตัวอย่างเกม Ultimate Epic Battle Simulator ที่กินสเปกซีพียูมหาศาล ถ้าเปิดแต่เกมอย่างเดียว FPS ได้อยู่ที่ 64-65 และถ้าสังเกตจะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์ซีพียู 6 แถวบนจะวิ่งสูง เพราะเจองานหนัก ส่วน 8 แถวล่างจะยังไม่วิ่ง เพราะยังไม่เจองานเบา

พอเราเปิดสตรีมที่ 4000 Bitrate ก็จะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์ซีพียู 8 แถวล่างเพิ่มขึ้น เพราะเจองานเบาแล้ว โดย FPS ที่ทำได้จะไม่ได้สูงขึ้นหรือเท่าเดิม แต่จะลดลงครับ เหลือ 50-52 ก็ยังถือว่าลดลง แต่ไม่มากครับ ถ้าเป็นซีพียูตัวอื่นจะลดลงเยอะกว่านี้ จุดนี้ทำให้เราสามารถเล่นเกมไปสตรีมไปในเครื่องเดียวได้เลย โดยไม่ต้องต่อภาพไปสตรีมเครื่องอื่น

นอกจากนี้แล้วเรายังลองเอกพอร์ตวิดีโอ 4K ตอนเล่นเกมไปด้วย ผลที่ออกมาคือ FPS ดรอปลงไปประมาณ 15 – 20 FPS ครับ (เดิม 75 หลัง 50) ถามว่าไหวไหม ก็ต้องบอกได้เลยนะ เซอร์ไพรส์มากครับ!

เราเห็นแล้วใช่ไหมว่า คอร์ใหญ่ คอร์เล็ก ทำงานต่างกันอย่างไร แล้วระบบรู้จะได้ไงว่าอันไหนคืองานหนักหรืองานเบา จำ Intel Thread Director ที่ผมพูดถึงได้ไหมครับ ระบบนี้แหล่ะ

หลักการทำงานก็คือ Intel Thread Director จะคุยกับระบบปฏิบัติการอยู่ตลอด ถ้าโปรแกรมกินทรัพยากรเยอะ = งานไหนหนัก ถ้ากินน้อยกว่า = งานไหนเบา จากนั้น Intel Thread Director ก็แจกจ่ายงานไปประมวลผลตามคอร์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

ประโยชน์ของมันคือ ช่วยประหยัดพลังงานครับ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ โน้ตบุ๊กมีแบตอยู่ 100 ส่งงานให้คอร์ใหญ่หนึ่งครั้งกิน 10 แต่คอร์เล็กกิน 3 ถ้าเราส่งงานเบา ๆ ไปให้คอร์ใหญ่จะได้ 10 ครั้งแบตถึงจะหมด แต่ถ้าส่งไปให้คอร์เล็กก็จะได้ถึง 33.3 รอบ การกินพลังงานที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้แบตหมดเร็ว – ช้าต่างกันครับ

เอาจริง ๆ คนเล่นเกมน่าจะไม่ได้ประโยชน์จากจุดนี้เท่าไร เพราะส่วนใหญ่เสียบสายอยู่แล้ว แต่คนที่ใช้ทำงาน ต้องการแบตอึด ๆ อันนี้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ เลย

แต่ถึงอย่างนั้น Intel Thread Director ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ จะทำงานได้ดีสุด ก็ต้องคู่กับ Windows 11 เท่านั้น แต่ผมว่าโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ๆ น่าจะมากับ Windows 11 หมดแล้วมั้ง

อีกหนึ่งสิ่งที่ Intel® 12th Generaiton เหมาะกับการเล่นเกมก็เพราะรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น DDR5 และ PCIe 5.0 สองส่วนนี้ส่งผลถึงความลื่นไหลเกมที่มากขึ้นด้วยครับ นอกจากนี้ก็ยังรองรับ WiFi 6E เทคโนโลยีใหม่ที่รองรับคลื่น 6GHz ด้วยนะครับ แต่อุปกรณ์ในปัจจุบันน่าจะยังไม่รองรับ คงต้องรออีกสักพักครับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสาเหตุที่ Intel เคลมตัวเองว่าเป็นซีพียูที่เกิดมาเพื่อการเล่นเกมครับ แน่นอนว่าถ้าเล่นเกมได้ขนาดนี้แล้ว โปรแกรมหนัก ๆ อย่างอื่นก็ได้ประสิทธิภาพที่ดีไม่ต่างกันครับ ใครคิดเห็นอย่างไร สามารถคอมเมนต์มาคุยกันได้ครับ