ASUS TUF Dash F15 โน้ตบุ๊กเกมมิงสุดคุ้ม สเปก Core i7 เจนเนอเรชั่น 11 รหัส H ตัวแรง พร้อมการ์ดจอ RTX 3070 จะเล่นเกมไหนลื่นบ้าง แล้วถ้าเอาไปตัดต่อล่ะเป็นอย่างไร วันนี้แพนมา #beartai ให้ดูครับ!

ดีไซน์

สำหรับ ASUS TUF Dash F15 ที่แพนได้มารีวิวในครั้งนี้ เป็นรหัส AZ033T โดยจุดเด่นของรุ่นนี้คือ ความบางและเบาครับ โดยในช่วงต้นปี 2021 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทาง Intel ได้ทำการเปิดตัวโปรเซสเซอร์รหัส H ในเจนเนอเรชันที่ 11 ที่ได้รับการปรับแต่งให้แตกต่างจากรุ่นก่อน ๆ โดยเน้นให้มีความสมดุลในการใช้งานมากขึ้น ไม่ได้เน้นในเรื่องของประสิทธิภาพในการประมวลผลเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการพลังงานที่ดียิ่งขึ้น และสามารถลดขนาดตัวเครื่องโน้ตบุ๊กโดยรวมให้เล็กและเบาบางลงได้

เรียกว่าเป็น thin & light gaming ลบข้อจำกัดที่ว่าเกมมิงโน้ตบุ๊กต้องเครื่องใหญ่และหนัก ที่สำคัญคือสามารถใช้งานบนแบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ต้องการพกพาเครื่องไปใช้งานนอกสถานที่บ่อยครั้ง และยังต้องการประสิทธิภาพความแรงในการประมวลผลที่ดีควบคู่กันไปด้วย ASUS ในประเทศไทย นับเป็นแบรนด์แรกที่ได้นำโปรเซสเซอร์ตัวใหม่นี้มาใช้ในเครื่องโน้ตบุ๊กซีรีส์ TUF Dash ครับ

จากที่แพนสังเกตด้วยตาเปล่า มิติตัวเครื่องของ ASUS TUF Dash F15 ดูบางอยู่นะครับ ความหนาที่แพนวัดได้ อยู่ที่ 1.99 ซม. ส่วนน้ำหนัก เดี๋ยวแพนชั่งให้ดู น้ำหนักตัวอยู่ที่ 2 กิโลกรัม ซึ่งพอรวมอะแดปเตอร์แล้ว ก็จะอยู่ที่ 2.6 กิโลกรัม แพนว่า ASUS TUF Dash F15 เบากว่าโน้ตบุ๊กเกมมิงทั่วไปในท้องตลาดเลย ที่จะหนาราว ๆ 2.5 ซม. หนักเกิน 2.3 กก. ขึ้นไปครับ

ด้วยความบางและเบาแบบนี้ ก็ช่วยให้การพกพา ทำได้สะดวกยิ่งขึ้นครับ เราไม่ต้องแบกน้ำหนักที่มากเกินไปครับต้องบอกว่าการออกแบบ ASUS TUF Dash F15 ก็จะมีความคล้ายกับ ROG Zephyrus อยู่พอสมควรครับ สังเกตได้จากฝาหลังโลหะ และขอบเครื่องจะมีความเหลี่ยม

ด้านข้างก็มีพอร์ต USB 3.2 Gen 1 จำนวน 2 ช่อง ถัดมาก็เป็นช่อง Kensington Lock ไว้ใส่สายล็อกเครื่องครับ ส่วนอีกฝั่งก็มีพอร์ต DC-IN ไว้ชาร์จไฟ, ช่อง LAN RJ45, ช่อง HDMI, USB 3.2 Gen 1 อีก 1 ช่อง, ส่วนพอร์ตนี้ที่มีสัญลักษณ์สายฟ้า ก็คือ Thunderbolt 4 ที่รองรับการชาร์จไฟ และต่อหน้าจอแยกครับ

จุดที่แพนว่าขาดไปเรื่องพอร์ตก็คือช่องอ่านการ์ดครับ ถ้ามีให้มาเป็น SD Card ก็น่าจะทำให้เราเสียบการ์ดจากกล้องได้ แบบไม่ต้องต่ออะแดปเตอร์แยกครับ

หน้าจอ

มาดูเรื่องหน้าจอกันบ้างครับ ASUS TUF Dash F15 ก็ให้มาเป็นจอ IPS แบบด้าน ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080) ซึ่งตัดแสงสะท้อนได้ดีในระดับหนึ่งเลย สำหรับความลื่นไหล ก็อยู่ที่ 144Hz และแสดงสีได้ในระดับ sRGB 62.5% เท่านั้นครับ

ซึ่งถ้าจะเอาไปทำกราฟิกลงเว็บไซต์ก็พอได้ แต่ถ้าจะเอาไปใช้ทำเป็นอาชีพจริง ๆ แพนแนะนำเป็น 100% DCI-P3 อย่าง ROG Zephyrus M16 จะเหมาะกว่าครับ ซึ่งรุ่นนี้ beartai ก็เพิ่งจะรีวิวไปนะ

ด้านคีย์บอร์ดของ ASUS TUF Dash F15 ก็เป็นแบบ Backlit ที่มีไฟสีเขียวน้ำทะเลอยู่ด้านใต้ครับ ไม่ใช่แบบ RGB จึงเปลี่ยนสีไม่ได้ ทำได้แค่ปรับความสว่างครับ ด้านสัมผัสการกดก็แน่นดีนะครับ ส่วนทัชแพดก็มีขนาดกลาง ๆ ให้สัมผัสที่ลื่นนิ้วดีครับ

โดยรุ่นนี้มี Two-Way AI Noise Cancelation ที่ตัดเสียงรบกวน จากทั้งเสียงขาเข้าไมค์ และขาออกจากลำโพง ทำให้ได้เสียงที่เคลียร์ที่สุด ซึ่งเราสามารถเปิดใช้งานได้ผ่าน Armoury Crate เลยครับ

สเปก

ดูภายนอกหมดแล้ว มาดูสเปกภายในกันบ้างครับ อย่างที่บอกไปว่า ASUS TUF Dash F15 นี้เป็นตัวท็อป ทำให้สเปกก็ต้องจัดหนักจัดเต็ม ซีพียูใช้เป็น Intel® Core™ i7-11375H รหัส H หรือ High Performance ที่มี 4 Core 8 Thread กับความเร็วสูงสุด 5.0 GHz ครับ ส่วนการ์ดจอก็จับคู่มากับ RTX 3070 รุ่น 85W ครับ

ประสิทธิภาพ ซีพียู แพนก็ทดสอบด้วย Geekbench 5 ผลแบบ Single Core อยู่ที่ 1545 คะแนน และ Multi-Core อยู่ที่ 5100 คะแนน ส่วนด้านกราฟิกก็ทำคะแนนจาก 3DMark Time Spy ไปได้ 8051 คะแนนครับ

สำหรับแรมก็ให้มาเป็นแบบ 16GB กับความเร็ว 3200MHz ครับ โดยหน่วยความจำในเครื่องก็เป็นแบบ SSD NVMe M.2 ขนาด 512GB ครับ ซึ่งความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูล แพนทดสอบด้วย CrystalDiskMark ก็ทำได้อยู่ที่ระดับ 3,000MB/s เลยครับ

ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคะแนนถือว่าค่อนข้างสูงเลยครับ คำถามคือคะแนนสูงแบบนี้ จะทำให้เล่นเกมลื่นแค่ไหน เดี๋ยวเรามาทดสอบกันครับ

สำหรับเกมที่แพนจะเอามาทดสอบวันนี้ มีอยู่ 3 เกมด้วยกันครับ นั่นก็คือ Apex Legend, PUBG, Metro Exodus ที่รองรับ Ray Tracing ครับ

  • เริ่มด้วยเกมแรก Apex Legend อันนี้แพนตั้งค่าไว้ที่สูงสุดทุกอย่าง FPS ที่ทำได้อยู่ที่ 70-80 FPS ครับ เวลาโดนเอฟเฟกต์เยอะ ๆ ก็จะตกลงจากนี้นิดหน่อยครับ
  • ส่วนเกมถัดมาคือ PUBG ก็เช่นเดิมครับ แพนตั้งค่าไว้สูงสุดทั้งหมด FPS ที่ทำได้อยู่ที่ 70-100 FPS ซึ่งแพนก็ว่าเพียงพอ กับการเล่นแล้วนะครับ อาจจะขับได้ไม่ถึงกับ Hz จอ แต่ก็มี Adaptive Sync ที่ปรับ Refresh rate ของจอ ให้พอดีกับ fps ครับ ทำให้ภาพไม่ฉีกขาด
  • สุดท้าย Metro Exodus แพนได้ตั้งค่าสูงสุดทั้งหมดไว้แล้วครับ FPS ที่ทำได้จะอยู่ราวๆ 60-70 Fps

หลังจากที่ทดสอบไปทั้งหมดแล้ว แพนจะมาเปิดบันทึกให้ดูว่า ความร้อนของ ASUS TUF Dash F15 นั้นเป็นอย่างไร ความร้อนอยู่ราว ๆ 80 องศา GPU ทำงาน99% แม้จะไม่ได้ใช้โลหะเหลวในการนำความร้อนเหมือนกับซีรีส์ ROG แต่ก็ถือว่าระบายความร้อนได้ดีเลยนะครับ

ในส่วนถัดมาแพนจะลองตัดต่อให้ดูครับ ลองเรนเดอร์คลิป 4 K ที่มีความยาว 15 วินาทีใช้เวลาไป 16 วินาที่ในการเรนเดอร์นะครับ

ทีนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องแบตเตอรี่กันบ้างครับ สำหรับ ASUS TUF Dash F15 ก็ให้แบตมาอยู่ที่ 76Wh ซึ่งทาง ASUS เคลมว่าแบตใช้งานได้ถึง 10 ชั่วโมงเลย ที่เยอะขนาดนี้ก็เป็นเพราะซีพียู Intel ใน Gen 11 ที่มีการใช้พลังงานน้อยลงครับ แต่ถ้าเอาไปตัดต่อ เรนเดอร์งานก็จะได้ 1-2 ชั่วโมงครับ อันนี้ถือว่าเป็นปกติสำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิงครับ

ข้อสังเกต

เนื่องจากช่วงนี้หลายคนต้องประชุมออนไลน์หรือเรียนออนไลน์ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้ Webcam แต่ ASUS TUF Dash F15 ไม่มีกล้อง Webcam มาให้น่าเสียดายครับ

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

ASUS TUF Dash F15 สเปกตัวท็อป Core i7 Gen 11 การ์ดจอ RTX 3070 แรม 16GB ความจุ 512GB และหน้าจอลื่น ๆ 144Hz มีราคาอยู่ที่ 52,990 บาทครับ

แต่ถ้าใครอยากได้รุ่นที่ราคาย่อมเยาก็ว่า ก็มีรุ่นเริ่มต้นที่ราคา 39,990.- บาท ให้เลือกด้วยนะครับ

โดยราคานี้จะมี Windows 10 Home ที่ทาง ASUS การันตีด้วยว่าจะสามารถอัปเกรดเป็น Windows 11 ได้ นอกจากนี้ยังมีประกันให้ 2 ปี และประกันอุบัติเหตุ Perfect warranty ใน 1 ปีแรกหลังจากที่ซื้อเครื่องครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส