วันนี้ผมอยู่กับ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ที่ไม่ใช่ก๊าซ แต่บอดี้ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) เหมือนกับที่ใช้ทำเครื่องบิน และยานอวกาศ!! จะเบาแค่ไหน เดี๋ยวเราจะมารีวิวให้ดูกันครับ

ดีไซน์

พูดถึงจุดเด่นของ คาร์บอนไฟเบอร์ ก็ต้องเรื่องความแข็งแรง และความเบาครับ ถามว่าเบาแค่ไหน ก็เบาจนเอาไปใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเครื่องบิน (Boeing 787) ได้เลยล่ะครับ นอกจากเครื่องบินแล้วเนี่ย พวกตัวถังซูเปอร์คาร์ หรือยานอวกาศก็มีส่วนประกอบที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เหมือนกันนะครับ

ฟังแบบนี้แล้วคงอยากรู้น้ำหนักของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ที่บอดี้ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ แล้วใช่ไหมล่ะ? น้ำหนักอยู่ที่ 1.07 กิโลกรัมครับ!

แต่ถึงอย่างนั้นเวลาเราพกพาไปใช้ ก็ต้องติดอะแดปเตอร์เผื่อไว้ด้วยครับ น้ำหนักรวมจึงอยู่ที่ 1.49 กิโลกรัม ครับ เอาจริง ๆ น้ำหนักของทั้งสองอย่างนี้ ยังเบากว่าโน้ตบุ๊กเพียว ๆ หลายรุ่นเลยนะ!

ด้านสัดส่วนเองก็ถือว่ากะทัดรัดไม่น้อย เดี๋ยวผมลองเทียบกับ A4 ให้ดูครับ ใหญ่กว่าไม่มาก ส่วนความหนาก็อยู่ที่ 1.50 เซนติเมตร เทียบกับนิ้วแล้ว พอ ๆ กันเลยครับ

รูปลักษณ์ภายนอกก็ยังคงความเป็น YOGA ที่ไม่ว่าจะพกไปไหนก็ดูดี โดยมีให้เลือกสีเดียวคือ Cloud Grey สีขาวเทาหม่น ที่ฝาหลังก็จะมีโลโก้ YOGA / Lenovo ที่ทั้งสองมุมครับ งานประกอบก็เนี้ยบดีครับ

สำหรับพอร์ตที่ให้มาก็มีแค่ Jack หูฟัง 3.5 มม. และ USB-C 3.2 Gen 2 สองพอร์ต ที่รองรับการโอนข้อมูล ต่อหน้าจอแยก และชาร์จแบตเตอรี่ครับ ส่วนอีกฝั่งก็มี USB-C 3.2 Gen 2 ธรรมดา ๆ ที่อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว

ตัวผมว่าน้อยไปครับ เวลาเอาไปใช้จริง ต้องหาดองเกิลมาเสียบแยก น่าจะมีพอร์ต USB-A หรือ HDMI มาให้ครับ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังแถมดองเกิ้ล HDMI มาให้ใช้นะ

ส่วนจุดใกล้ ๆ กันนี้เป็นสวิตช์ปิดกล้องแบบดิจิทัล สุดท้ายก็คือปุ่ม Power เปิด-ปิดเครื่องครับ แต่เอาจริง ๆ เราคงไม่ได้ใช้หรอก เพราะเขามี Flip-to-boot ที่เมื่อเปิดฝาขึ้นมา ก็จะเปิดเครื่องให้อัตโนมัติ เปิดเครื่องเร็วอยู่นะ เดี๋ยวผมให้ทีมงานขึ้นตัวเลขไว้ให้ว่าใช้เวลากี่วินาที และอีกอย่างจอนี้พับได้ 180 องศาเลยนะครับ

จากที่เห็นในรุ่นนี้เขาก็ติดตั้ง Windows 11 มาให้ตั้งแต่แกะกล่อง ไม่ต้องไปเสียเวลาอัปเดตครับ ในขณะเดียวกันก็ยังมี Office Home & Student มาให้ด้วยเช่นกัน ใช้งานได้แบบยาว ๆ จนกว่าจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องใหม่ได้เลย

หน้าจอ

เอาล่ะครับ มาพูดถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon นั่นก็คือ หน้าจอ OLED แบบ 16:10 ขนาด 14 นิ้ว บนความละเอียด 4K พร้อมรีเฟรชเรต 90Hz ผมบอกได้เลยว่า นี่คือที่สุดของจอโน้ตบุ๊กยุคนี้ จะทำงานก็ดี หรือจะดูหนังก็เพลิน! เดี๋ยวผมจะสัมผัสด้วยตาเนื้อแทนคุณผู้ชมเองครับ

อย่างแรกที่เห็นเลยคือ ความนุ่มตาแบบ 90Hz เวลาสไลด์หน้าจอ เหมือนกับใช้มือถืออย่างไรอย่างนั้นเลยครับ แต่ถ้าใครอยากสลับเป็น 60Hz เพื่อประหยัดแบต ก็ได้เหมือนกัน โดยกด Fn+R บนคีย์บอร์ดครับ

ส่วนถัดมาก็คือ ตัวอักษรนี่คมกริบ แถมยังมีโหมดลดแสงสีฟ้า Eye Care ที่รับรองโดย TÜV Rheinland ว่าช่วยถนอมสายตาได้ ทำให้เวลาอ่านข่าวจากเว็บแบไต๋นาน ๆ แล้วเกิดอาการตาล้าน้อยลง แต่ยังไงพักสายตาก็ดีกว่านะครับ

ต่อมาเป็นเรื่องสีสันที่จัดว่าสุด เพราะมีขอบเขตการแสดงสีถึงระดับ 100% DCI-P3 หรือ 125% sRGB ซึ่งเท่ากับที่ใช้ในงานภาพยนตร์ระดับโลก เวลาเอาไปทำงานจึงได้สีสันที่ตรงตามตาเห็นครับ ส่วนการใช้งานกลางแจ้งอันนี้ ก็พอสู้แสงแดดได้ครับ

นอกจากนี้เรื่องการดูหนังก็ยังมี Dolby Vision® ที่พ่วงมากับระบบเสียง Dolby Atmost® 4 ลำโพง ถือเป็นสวรรค์ของคนชอบดูหนังเลยครับ ทุกครั้งที่เปิดคอนเทนต์ที่รองรับ เครื่องก็จะปรับโหมดเป็น Dolby ให้ทันที อย่างกับสมาร์ตทีวีที่ผมเคยรีวิว เรื่องเสียงก็จัดว่าดี สัมผัสเบสได้ ในขณะที่เสียงกลางและแหลมก็ยังชัดเจนครับ

แม้ว่าช่วงนี้เราจะประชุมออนไลน์กันน้อยลง แต่ก็ยังคงมีอยู่ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ก็เลยมีกล้อง 720p พร้อมระบบไมโครโฟนคู่ ที่มี Smart Noise cancelling ช่วยตัดเสียงรบกวนมาให้ครับ คุณภาพของภาพและเสียงก็เป็นอย่างที่ทุกคนได้ยินเลยครับ ชอบไม่ชอบยังไงลองถามใจดู และถ้าไม่ได้ใช้กล้องแล้ว เราก็ปิดกล้องที่ปุ่มข้างเครื่องได้เลยครับ

นอกจากนี้กล้องหน้ายังเป็น IR Camera ที่มี AI อยู่เบื้องหลัง ซึ่งรองรับการปลดล็อกด้วยใบหน้าผ่าน Windows Hello

และด้วยความที่เป็นกล้อง IR ซึ่งจับการเคลื่อนไหวของหน้าได้ Lenovo ก็เลยเพิ่มฟีเจอร์อื่น ๆ เข้าไปใช้งานด้วย เช่น Zero-Touch Login ใช้กล้องหน้าจับการเคลื่อนไหว ถ้าเราไม่อยู่หน้าจอ พวก Video ที่เปิดไว้ก็จะหยุดเล่นและลดแสงจอให้อัตโนมัติ เพื่อประหยัดแบต ถ้าเรากลับมานั่งก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมครับ

มีอีกฟีเจอร์ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ Glance by Mirametrix® เบลอหน้าจอ กันคนแอบเผือก เวลาเราหันหน้าไปเม้าท์กับเพื่อนครับแบบนี้เลยครับ ผมว่าน่าใช้นะ! หรือคุณว่าไม่ ?

อ่ะ! เรามาพูดถึงคีย์บอร์ดกันบ้าง อันนี้ก็เป็นคีย์บอร์ดไซซ์ปกติที่มีไฟใต้ปุ่ม เอาไว้มองในที่มืดครับ สัมผัสการกดเด้งนิ้ว พิมพ์งานมันมือครับ ส่วนทัชแพดก็ใหญ่มาก เวลาเลื่อนเมาส์ก็ลื่นนิ้ว และแน่น ๆ เวลากดครับ

ส่วนด้านข้างก็มีสติกเกอร์แปะว่าสเปกเป็นค่ายแดงแรงฤทธิ์ AMD ครับ แต่อีกจุดหนึ่งที่ผมเพิ่งเห็นคือ หน้าจอตัวนี้ ผ่านการเช็กสีจอด้วย X-rite และปรับจูนให้ตรงโดย Pantone ด้วยนะครับ

สเปก

มาคุยกันถึงเรื่องความแรงกันบ้าง Lenovo Yoga Slim 7 Carbon รุ่นที่เราได้มารีวิว ใช้ซีพียู AMD Ryzen™ 7 5800U รุ่นประหยัดไฟ แต่ไม่กั๊กความแรง ทำให้ผลทดสอบจาก Geekbench 5 แบบ Single Core ออกมาได้อยู่ที่ 1404 คะแนน ส่วน Multi-Core ก็อยู่ที่ 6880 คะแนนครับ ซึ่งเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูงนะครับ เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กทำงานที่แบไต๋เคยรีวิว!

ส่วนการ์ดจอก็มีทั้ง AMD Radeon Graphic ที่อยู่ในซีพียู และการ์ดจอแยก MX 450 ครับ ซึ่งจะสลับการใช้งานตามความต้องการ ถ้าเล่นเว็บธรรมดาก็จะเป็นการ์ดจอในซีพียู แต่ถ้าเป็นงานหนัก ๆ อันนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของ MX 450 โดยผลทดสอบจาก 3DMark Time Spy ก็ได้ผลออกมาอยู่ที่ 1,478 คะแนน

ส่วนแรมที่ให้มาก็มีขนาด 16GB ทำให้สามารถเปิดแท็บเบราว์เซอร์พร้อมกับโปรแกรมต่าง ๆ ได้สบาย ๆ โดยไม่มีอาการหน่วง ส่วนความจุตัวเครื่องอยู่ที่ 1TB โดยมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 3415MB/s และเขียนอยู่ที่ 3104MB/s ซึ่งวัดโดย CrystalDiskMark ครับ

ทีนี้มาพูดถึง Lenovo Yoga Slim 7 Carbon กับการเอาไปใช้งานบ้าง ถ้าเป็นพวกงานเอกสาร ก็ใช้ได้สบาย ๆ เลย แต่ด้วยความที่เป็นจอสีตรง บวกกับน้ำหนักที่เบา หลายคนคงอยากรู้ว่าถ้าเอาไปทำงานหนัก ๆ จะไหวไหม

ก็ต้องบอกว่า หน้าจอ OLED ของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon กับสายโปรดักส์ชัน มันดีงาม จริง ๆครับ มีค่าสีที่กว้างมาก ตรงมาก และคมมากเช่นกัน อย่างการแต่งภาพด้วย Lightroom ก็ได้สีอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าจะเอามาตัดต่อวิดีโอ 4K ที่ไม่ได้ใช้เอฟเฟ็กต์อลังการมาก AMD Ryzen™ 7 5800U ก็พอไหวนะครับ

เรื่องแบตเตอรี่ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ก็ให้มาเป็นแบบ 61Wh ซึ่งกับการใช้งานทั่วไป อยู่ได้ราว ๆ 8 ชั่วโมง ถือว่าครบชั่วโมงทำงาน แต่ถ้าเกินจากนั้นต้องชาร์จครับ แต่การชาร์จก็มี Rapid Charge Express ชาร์จด่วนทันใจ 15 นาที ใช้ต่อได้อีก 3 ชั่วโมงนะครับ อันนี้คิดว่าน่าจะทดแทนกันได้

ข้อสังเกต

และในทุกรีวิวของ #beartai เราก็ต้องให้ข้อสังเกตไว้ครับ ในเรื่องของความเบาและสเปกอันนี้กองบรรณาธิการแบไต๋ให้สามผ่าน แต่ในเรื่องพอร์ตอันนี้ต้องปรับปรุงครับ ให้มาน้อยไปจริง ๆ ส่วนอีกเรื่องก็คือต้องระวังเรื่องรอยบนตัวเครื่องครับ เพราะเผลอเอาไปใส่รวมกับที่ชาร์จ ก็เลยได้มาสองแผลเล็ก ๆ บนฝาหลังครับ อันนี้ต้องระวังไว้

รีวิวที่ดีก็ต้องมีราคา

สำหรับ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon รุ่นที่เราได้มารีวิวนี้ สเปกตัวท็อป จะมีราคาค่าตัวอยู่ที่ 43,990 บาท ครับแต่ถ้าใครอยากได้ราคาย่อมเยาเขาก็มีรุ่นเริ่มต้นให้เลือกอยู่ที่ราคา 39,990 บาท

โดยในทุกสเปกจะได้ ประกันแบบ Premium Care 3 ปีครับ ถ้าเครื่องมีปัญหาเขาก็ส่งช่างมาซ่อมให้ถึงหน้าบ้านในวันถัดไป ในเวลา 9 โมงเช้า – 3 ทุ่ม แต่ถ้ามีปัญหาสงสัยตรงไหนก็ โทรไปถาม Call Center ที่เป็นผู้ชำนาญการด้านเทคนิคโดยเฉพาะ ได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันเลยครับ! รวมถึงมีประกันอุบัติเหตุให้อีก 3 ปีด้วย

ข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม https://www.facebook.com/LenovoTH

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส