การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอป่วยแล้วไม่ว่าใครก็อยากหายเร็ว ๆ ซึ่งการไปหาหมอก็เป็นวิธีที่ดี แต่เชื่อว่าเวลาไปหาหมอ นอกจากการบอกอาการที่เป็นแล้ว หลายคนมักนั่งอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ไม่รู้จะถามอะไร บ้างก็ไม่กล้าคุยกับหมอ ทั้งที่เวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะช่วยให้คุณหายได้เร็วขึ้น อีกทั้งบางคนต้องลางานมาพบหมอหรือใช้เวลารอเป็นเวลานาน

บทความนี้ได้รวบรวมวิธีที่จะช่วยให้การไปหาหมอของคุณในแต่ละครั้งมีคุ้มค่าคุ้มเวลามากยิ่งขึ้น

4 วิธีที่คุณควรทำเมื่อไปหาหมอ

หากคุณไปพบหมอ วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้คุณได้ข้อมูลที่ละเอียด ปลอดภัย และอาจหายจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น

1. เตรียมข้อมูลให้พร้อม

หลายครั้งที่พอเจอหน้าหมอแล้วเราก็ลืมเรื่องที่จะถามไปเสียอย่างนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือจด ซึ่งเราขอแนะนำให้คุณจดสิ่งต่อไปนี้ก่อนไปเจอหมอ พร้อมกับเล่าสิ่งที่จดมาให้หมอฟัง

  • อาการ เช่น เป็นไข้ ไอ เจ็บ โดยระบุไปด้วยว่าเริ่มเจอวันไหน เวลาไหนดีขึ้น ระดับอาการรุนแรงแค่ไหน เป็นมานานเท่าไหร่ หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยรึเปล่า หากเป็นอาการทางผิวหนังที่เป็น ๆ หาย ๆ ก็ควรถ่ายรูปไว้ด้วย
  • อาการที่คุณกังวล บางครั้งคุณอาจมีอาการบางอย่างที่รู้สึกกังวลเป็นพิเศษ อย่ากลัวที่จะถามแม้ว่ามันอาจไม่เกี่ยวกับสิ่งที่หมอพูดเลยก็ตาม ทั้งนี้เพื่อความสบายใจและความปลอดภัย เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการรักษาด้วย
  • โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยของตัวเองและคนในครอบครัว (หากมี) เพราะหลายครั้งที่การเจ็บป่วยในอดีตอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่างในอนาคตได้
  • รายชื่อยา อาหารเสริม และวิตามินที่คุณใช้ หรือหยิบยาใส่กระเป๋าไปให้หมอดูด้วยเลย เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือการใช้ยาบางอย่างร่วมกันสามารถทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งอาจพบได้ในผู้สูงอายุที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวหลายชนิด
  • เหตุการณ์หรือปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วย หรือการใช้ชีวิตที่ต่างไปจากเดิม เช่น อาหาร การออกกำลังกาย ภาวะความเครียด การพักผ่อนน้อย หรือการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ
  • คำถามอื่น ๆ ที่คุณสงสัย

2. คำถามสำคัญที่ต้องถาม

แม้ว่าโดยส่วนมากหมอสามารถวินิจฉัยและให้ข้อมูลของโรคได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ลิสต์คำถามด้านล่างนี้จะช่วยให้คุณได้ข้อมูลที่มากขึ้น

  • ชื่อโรคอะไร อาการเป็นแบบไหน ร้ายแรงหรือไม่ ติดต่อได้รึเปล่า
  • สามารถหายได้เองหรือต้องการการรักษา
  • รูปแบบและระยะเวลาในการรักษาเป็นอย่างไร แล้วต้องกลับมาตรวจซ้ำไหม
  • การดูแลตัวเองขณะที่ป่วย เช่น ห้ามทำอะไรหรือควรกินอาหารแบบไหน ซึ่งช่วยให้คุณดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมและอาจจะช่วยให้หายป่วยได้เร็วขึ้น
  • สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค หรือทำให้อาการกำเริบ และวิธีป้องกัน
  • อาการที่ควรสังเกตหรืออาการฉุกเฉินที่ต้องมาโรงพยาบาลโดยด่วน

3. พูดความจริง

ไลฟ์สไตล์ของคนเราหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งไลฟ์สไตล์ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ด้วย ซึ่งเวลาที่ไปหาหมอ บางคนอาจจะไม่กล้าหรือรู้สึกอายที่จะพูดเรื่องบางเรื่อง หรือตอบคำถามบางคำถามต่อคนแปลกหน้า โดยเฉพาะเรื่องเพศและการใช้สารเสพติด หรือคนที่มีโรคประจำตัว อย่างคนเป็นโรคตับที่แอบดื่มเหล้า คนเป็นโรคปอดที่แอบสูบบุหรี่ทั้งที่หมอห้าม หรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้ยาตามที่หมอบอก แต่ไม่กล้าบอกความจริงเพราะกลัวหมอดุ

ส่งผลให้ผลการวินิจฉัยอาจผิดเพี้ยนและไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด สิ่งที่น่ากังวลคือโรคบางโรคหากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจทำให้อาการเรื้อรังและรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ ด้วยเหตุผลนี้การตอบคำถามของหมออย่างตรงไปตรงมาคงจำเป็นต่อการรักษาอย่างยิ่ง และเชื่อเถอะว่าหมอเคยได้ยินมาหมดแล้ว

4. ถามซ้ำให้มั่นใจ

การไปโรงพยาบาลที่มีคนไข้หนาแน่น หมออาจจำเป็นต้องจำกัดเวลาในการให้บริการ ซึ่งอาจทำให้ทุกอย่างดูเร็วไปหมด และคงมีหลายครั้งที่คนไข้ตามหมอไม่ทัน พร้อมเดินออกมาจากห้องตรวจด้วยความสงสัยและกลับบ้านไปพร้อมความคาใจ

แต่อย่าให้ปัญหานั้นเกิดกับคุณ คุณสามารถทวนคำตอบของหมอให้แน่ใจ ถามเรื่องที่คุณสงสัยให้กระจ่าง เพราะแม้บางครั้งอาการที่คุณเป็นอาจไม่ได้ร้ายแรง แต่คุณรู้สึกกังวล ซึ่งการไปหาหมอไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสบายใจด้วย

เพียงแค่นำ 4 วิธีนี้ไปใช้ก็จะช่วยให้ทุกการไปหาหมอของคุณคุ้มค่าคุ้มเวลาและสบายใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของคนไข้เองก็ควรดูแลตัวเองและใช้ยาตามคำแนะนำของหมอเพื่อการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพและเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส