สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องรูปร่าง คงเคยได้ยินวิธีการลดน้ำหนักโดยการเข้ารับการผ่าตัด หรือที่เรียกกันว่า ‘ผ่าตัดลดน้ำหนัก’ (Bariatric surgery) คือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดที่เล็กลง ซึ่งค่อนข้างใช้ได้ผลในแง่ของการลดน้ำหนัก วันนี้ Hack for Health พาทุกคนมาทำความรู้จักกับการผ่าตัดลดน้ำหนักกันให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินอาจสนใจวิธีนี้อยู่แน่!

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร

สำหรับการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงนั้น นิยมใช้เป็นวิธีสุดท้ายหลังจากที่คุณออกกำลังกาย หรือควบคุมอาหารก็แล้วก็ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักและการกินของตนเองได้ หรือสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงซึ่งมีต้นเหตุมาจากน้ำหนักเกินก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน

โดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร จะช่วยลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ลดความอยากอาหารได้ เนื่องจากในกระเพาะอาหารจะมีฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร เมื่อเราตัดกระเพาะให้มีขนาดเล็กลง ฮอร์โมนชนิดนั้นก็จะถูกกำจัดออกไปด้วยบางส่วน ทำให้อยากอาหารน้อยลง ที่สำคัญไม่รู้สึกทรมานกับการที่ร่างกายบริโภคอาหารน้อยลง

โรคที่มีปัจจัยมาจากน้ำหนักเกิน

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร นอกจากจะทำให้คุณกินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลง และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มีปัจจัยมาจากน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ของคุณ ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันพอกตับ
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะกับใคร

โดยปกติแล้ววิธีลดความอ้วนที่ทุกคนทำกันนั่นก็คือ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากคุณอยากใช้วิธีผ่าตัดกระเพาะอาหารในการลดความอ้วน ลองเช็กดูว่าคุณมีคุณลักษณะต่อไปนี้หรือไม่

  • ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของคุณคือ 40 ขึ้นไป เรียกว่า โรคอ้วนมาก
  • ค่าดัชนีมวลกายของคุณอยู่ที่ 35 – 39.9 เรียกว่า โรคอ้วน 
  • มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักอย่างร้ายแรง เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง 
  • ในบางกรณี คุณอาจมีสิทธิ์ได้รับการผ่าตัดลดน้ำหนักหรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร หากค่าดัชนีมวลกายของคุณอยู่ที่ 30 – 34 และคุณมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับน้ำหนักอย่างร้ายแรง

ความเสี่ยงในการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

แม้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมการกินของตนเองได้ดีขึ้น แต่ก็อาจจะเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ดังนี้

  • เลือดออกมากเกินไป
  • การติดเชื้อ
  • อาการไม่พึงประสงค์จากการดมยาสลบ
  • ปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือการหายใจ
  • การรั่วไหลในระบบทางเดินอาหาร
  • ลำไส้อุดตัน

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

หากคุณได้ปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว พวกเขาก็อาจให้คุณทดสอบในห้องปฏิบัติการและการทดสอบต่าง ๆ ก่อนการผ่าตัด คุณอาจจะต้องมีการควบคุมหรืองดอาหารและยาบางประเภท รวมถึงงดสูบบุหรี่ในช่วงก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วย

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด

โดยทั่วไปคุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้กินอาหารเป็นเวลา 1 – 2 วัน เพื่อให้กระเพาะอาหารและระบบย่อยอาหารของคุณได้รักษาตัว จากนั้นคุณจะต้องกินอาหารที่ทางแพทย์แนะนำ โดยเริ่มต้นจากกินอาหารเหลว และค่อยไปสู่อาหารบดละเอียด อาหารอ่อน และในที่สุดก็จะสามารถกินอาหารได้เป็นปกติ ที่สำคัญในช่วงเดือนแรกคุณจะต้องเข้ารับการตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้งอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้คุณกินวิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม วิธีการผ่าตัดลดความอ้วน หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร แม้จะช่วยให้ความอยากอาหารของคุณลดลง นำไปสู่การมีน้ำหนักที่น้อยลง แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะช่วยทำให้ปัญหาสุขภาพหรือโรคที่คุณกังวลหายไปได้ ที่สำคัญหากคุณไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตนเองและกินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย ก็อาจทำให้คุณกลับมาอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินได้อีกครั้ง

ที่มา 1 , ที่มา 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส