สำหรับมนุษย์พนักงานออฟฟิศทั้งหลายคงเข้าร้านนวดเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยการทำงานที่จำเป็นต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือต้องอยู่ในท่วงท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ และหลัง จนต้องพึ่งร้านนวดให้ช่วยกดจุดนวดคลายเส้น แต่สำหรับบางคนอาจเกิดคำถามว่าทำไมพอนวดวันนี้ ตื่นเช้าขึ้นมากลับรู้สึกปวดหรือเจ็บที่กล้ามเนื้อมากกว่าเดิม แล้วก็ต้องกลับไปให้ร้านนวดช่วยนวดอีกรอบ ทำวนไปอยู่แบบนี้ เคยคิดหรือไม่ว่าบางทีการนวดอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีในการรักษาอาการปวดของคุณ

ข้อดีของการนวด

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าศาสตร์ทุกศาสตร์มีข้อดีในตัวเอง และการนวดก็เป็นเทคนิคที่มีข้อดี เช่น ถ้าหากกล้ามเนื้อของคุณเกิดการเมื่อยล้า หรือตึงจากพฤติกรรมการนั่ง เช่น นั่งเอียงซ้าย กล้ามเนื้อฝั่งซ้ายที่ใช้งานเยอะก็จะมีอาการตึง การไปนวดจะทำให้กล้ามเนื้อยืดคลายตัว ช่วยให้อาการปวดลดลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณใช้งานกล้ามเนื้อไปถึงจุดหนึ่งจนกล้ามเนื้อเกิดการอักเสบและเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อแล้วคุณยังเอาแรงกดจากการนวดไปกระตุ้น เนื้อเยื่อก็จะยิ่งฉีกขาดและเกิดการอักเสบมากขึ้น 

สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังบาดเจ็บจากการนวด

การนวดที่ดีคือคุณจะ ‘รู้สึกตึง’ ไม่ควร ‘รู้สึกเจ็บ’ เพราะอาการเจ็บคือสัญญาณที่ร่างกายบอกกับตัวเราว่าเนื้อเยื่อของร่างกายกำลังเกิดการบาดเจ็บอยู่ ถ้าเราไปนวดด้วยน้ำหนักพอเหมาะจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและสบายขึ้น เพราะแรงดึงของกล้ามเนื้อฝั่งที่เกร็งคลายตัวออก แต่ถ้านวดแรงเกินไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เมื่อมีอาการเจ็บเข้ามาแสดงว่ามีการอักเสบและกล้ามเนื้อฉีกขาดไม่ควรนวดต่อทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง เวลาที่คนเราเป็นแผลโดนมีดบาด เราต้องเอามือห้ามเลือดไม่ใช่เอามือไปขยี้แผล และการนวดในจุดที่มีการอักเสบเป็นเหมือนการขยี้แผลให้เจ็บหนักมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ในการรักษาอาการปวดเมื่อยไม่ว่าจะเป็นวิธีการนวดหรือการออกกำลังกายก็ตาม จะต้องใช้แรงที่เหมาะสม หากทำแล้วรู้สึกเจ็บต้องเลี่ยง หรือทำไปสักพักแล้วเจ็บแสดงว่าสิ่งที่ทำมันหนักเกินไป ขณะเดียวกันหากตอนทำและหลังทำไม่เจ็บ แต่ตื่นขึ้นมารู้สึกเจ็บก็หมายความว่าการนวดหรือการออกกำลังกายเมื่อคืนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คุณบาดเจ็บนั่นเอง

ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าเวลาไปนวดจะต้อง ‘รู้สึกตึง’ ต้อง ‘ไม่เจ็บ’ และวันรุ่งขึ้นตื่นมาต้องรู้สึกสบายถึงจะเรียกว่าการนวดแบบนี้เหมาะกับคุณ แต่ถ้าต้องทนเจ็บและระบมแสดงว่าการนวดอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง

แก้ปัญหาอาการปวดเมื่อยให้ตรงจุด

ปัญหาหลักที่สำคัญก็คือต่อให้คุณไปนวดแล้วดีขึ้น แต่กลไกการบาดเจ็บยังอยู่สุดท้ายคุณก็จะกลับมาปวดเมื่อยตามร่างกายอยู่ดี ดังนั้น การนวดหรือว่าเทคนิคการรักษาเพื่อลดการเจ็บหรือลดการเกร็งของกล้ามเนื้อยังไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด ทางแก้ปัญหาที่แท้จริงคือคุณต้องกลับมาโฟกัสถึงกลไกที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บนั้น ๆ ซึ่งอาจจะมาจากท่าทางการนั่งทำงานของคุณ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณจะเสพติดการนวดมากแค่ไหนแต่ก็อย่าลืมที่จะหันมาใส่ใจกับต้นตอที่ทำให้คุณปวดเมื่อยร่างกาย เพราะเมื่อไหร่ที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งทำงาน การก้มมองจอโทรศัพท์มือถือนาน ๆ หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้นั้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร้านนวด และไม่ต้องปวดเมื่อยร่างกายให้ทรมานเช่นทุกวันนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส