Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงานถูกมากถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจด้วยการแข่งขันของธุรกิจที่ดุเดือดขึ้นทุกปี พนักงานจำนวนไม่น้อยถูกกดดันให้รับผิดชอบงานมากขึ้น หรือบางครั้งปัญหาด้านความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงานมีส่วนไม่น้อย

หากดูจากชื่อภาวะหมดไฟ หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นอาการที่คนเรารู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจในทำงานหรือรู้สึกห่อเหี่ยวกับงาน แต่ในความเป็นจริง Burnout Syndrome ครอบคลุมถึงอาการและพฤติกรรมอื่นที่มากกว่านั้น และการปล่อยภาวะนี้ไว้โดยไม่ได้วางแผนรับมืออาจนำไปสู่โรคทางอารมณ์และส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกายได้เลยทีเดียว

ในบทความนี้ Hack for Health จะพาคุณไปรู้จักอาการ สัญญาณ และพฤติกรรมของ Burnout Syndrome รวมถึงคนกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนอื่น

Burn-out is a syndrome conceptualized as resulting from chronic workplace stress that has not been successfully managed

หมดไฟ: กลุ่มอาการที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน ซึ่งไม่สามารถจัดการหรือควบคุมได้

World Health Organization

เช็กอาการ สัญญาณ และพฤติกรรมของ Burnout Syndrome

ลักษณะของอาการ สัญญาณ และพฤติกรรมภาวะหมดไฟสามารถแบ่งออกได้ 3 ลักษณะด้วยกัน แต่ละลักษณะก็มีสัญญาณและพฤติกรรมที่ต่างกันไป

ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์

  • รู้สึกเหนื่อยล้าทางใจหรือทางอารมณ์อย่างมากทั้งในและนอกเวลางาน
  • รู้สึกขี้เกียจ ไม่อยากไปทำงาน รู้สึกแย่เมื่อตื่นนอน ขาดงานบ่อย
  • ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
  • รู้สึกแย่เมื่อต้องรับผิดชอบงานหรือต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่น
  • อาการทางร่างกาย อย่างเครียด นอนไม่หลับ ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

มุมมองต่อสังคมในที่ทำงานเปลี่ยนไป

  • รู้สึกหงุดหงิด รำคาญเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า
  • ขาดความสนใจ ใส่ใจ และเห็นอกเห็นใจคนในที่ทำงาน
  • พูดคุยหรือสุงสิงกับคนในที่ทำงานลดลง แยกตัวออกมา
  • คิด พูด หรือแสดงออกต่อคนในที่ทำงานและผลงานของคนอื่นในแง่ลบ
  • ไม่อยากเข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมของบริษัท

คุณภาพงานและทัศนคติในการทำงานเปลี่ยนไป

  • รู้สึกหม่นหมอง ไร้ค่า ขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำงานให้ออกมาดี
  • คุณภาพหรือปริมาณงานลดลงจากเดิม
  • ทำงานได้ไม่ดี ผิดพลาด ไม่สามารถทำงานเสร็จได้ภายในเวลา
  • รู้สึกสับสน หัวตื้อ สมองตัน ขาดความคิดสร้างสรรค์
  • บกพร่องในหน้าที่ ทั้งในที่ทำงานและชีวิตส่วนตัว

หากคุณกำลังเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้หรือสังเกตได้ว่ามุมมองและพฤติกรรมของตัวเองที่มีต่องานและเพื่อนร่วมงานเปลี่ยนไป คุณกลายเป็นคนที่สนใจความรู้สึกคนอื่นน้อยลงหรือใจร้ายขึ้น นั่นอาจหมายความว่าคุณกำลังเผชิญกับ Burnout Syndrome อยู่

ซึ่งอาการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากภาวะหมดไฟอาจสร้างความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ของคุณกับคนที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อการทำงานที่อาจนำไปสู่ความเครียดหรือปัญหาอื่นที่ตามมาอย่างไม่รู้จบ รวมถึงโรคทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้าด้วย หากคุณสังเกตว่าตัวเองมีสัญญาณของ Burnout Syndrome แนะนำให้หาวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ใครบ้างที่เสี่ยง Burnout Syndrome?

ทุกคนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟได้ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ทัศนคติ และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานด้วย ซึ่ง Hack for Health สรุปคน 3 แบบที่อาจเสี่ยงต่อ Burnout Syndrome ได้มากที่สุด

1. เดอะแบก

เดอะแบกเป็นสแลงที่ใช้เรียกคนเก่งที่มีความสามารถมากและหลากหลาย ซึ่งเป็นตัวหลักในการประคับประคองงานจนสำเร็จ คนที่มีบุคลิกเป็นเดอะแบกมักต้องรับผิดชอบงานที่หนักในเชิงคุณภาพและปริมาณมากกว่าคนอื่นเสมอ

เดอะแบกยังเป็นที่คาดหวังของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้ตัวเดอะแบกอาจรู้สึกกดดันตัวเองด้วยเช่นกัน ยิ่งเดอะแบกที่เป็นพวก Perfectionist ก็ยิ่งกดดันและเครียดกับผลลัพธ์ของงานมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เดอะแบกมักต้องอยู่ทำงานดึก อดหลับ อดนอน และขาด Work-Life Balance เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ

2. เดอะปั่น

เดอะปั่นสามารถหมายถึงคนที่ได้รับมอบหมายงานจำนวนมากและต้องทำให้เสร็จภายในที่กำหนด หรือหมายถึงคนที่ได้รับงานในปริมาณปกติ แต่ขาดการจัดการงานและเวลา หรือการเรียงความสำคัญของงานที่ดีจนทำให้งานเสร็จช้า และต้องมาปั่นในช่วงไม่กี่วันหรือในคืนก่อนส่งงาน

เดอะปั่นจึงเป็นคนที่มีความเสี่ยงที่จะพักผ่อนนอนมากกว่าคนอื่น ซึ่งการนอนน้อยหรือนอนเช้าส่งผลให้สมองและร่างกายอ่อนล้าอ่อนเพลีย เกิดความเครียดสะสมจนเหนื่อยล้าและหมดไฟได้

3. เดอะ คิดมาก

ในความเป็นจริงงานและเพื่อนร่วมกันของคุณอาจดีมาก ๆ แต่ตัวคุณเองที่เป็นคนมองโลกในแง่ลบ กลัวการถูกตัดสินคุณค่าของงานหรือแม้แต่คุณค่าของตัวคุณตัวเอง ซึ่งอาจพบได้ในคนที่เป็น Perfectionist พนักงานใหม่ คนที่เพิ่งได้ปรับตำแหน่ง และคนที่ความมั่นใจต่ำ

นอกจากคน 3 ประเภทนี้แล้ว ปัจจัยอื่น อย่างการทำงานเดิมซ้ำ ๆ คนที่ไม่มีผลงาน คนที่ทำงานเกินเวลาบ่อย ๆ หัวหน้าที่ไม่สามารถควบคุมลูกน้องได้ คนที่ทำงานในตำแหน่งสนับสนุนหรือผู้ช่วย และสังคมหรือวัฒนธรรมในที่ทำงานที่เป็นพิษก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของ Burnout Syndrome ได้เช่นเดียวกัน

วิธีรับมือ Burnout Syndrome

ภาวะหมดไฟสามารถรับมือได้หลายวิธี

  • พูดคุยถึงปัญหาในการทำงานอย่างตรงไปตรงมาและสุภาพเพื่อให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานรับรู้ปัญญาและช่วยหาทางแก้ไข
  • ขีดเส้นระหว่างเวลางานและเวลาส่วนตัวให้ชัดเจน
  • ทำความเข้าใจความผิดพลาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน
  • หาเวลาพัฒนาทักษะและแนวคิดในการทำงานที่ช่วยให้จัดการงานได้ดีขึ้น
  • ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ลดความเหนื่อยล้าของร่างกาย
  • คุยกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หมายความว่าคุณป่วย แต่คนเหล่านี้สามารถหาสาเหตุและแนะนำวิธีรับมือให้กับคุณได้
  • ใช้เวลากับคนใกล้ตัว คนรัก เพื่อน ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย กินอาหารร่วมกัน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ
  • ลาออก หากวัฒนธรรมองค์กรและสังคมที่ทำงานบั่นทอนคุณในทุกวัน และปัญหาไม่ได้เกิดจากคุณ อย่าปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังจนส่งผลต่อสุขภาพของคุณ

ตอนนี้คุณน่าจะรู้จักกับ Burnout Syndrome มากขึ้นแล้ว คนที่มีความเสี่ยงของภาวะนี้อย่าลืมเอาวิธีที่แนะนำไปปรับใช้กัน สำหรับการลาออกก็อย่าลืมหาลู่ทางในการทำงานไว้ก่อนด้วย สุดท้ายนี้ ไม่ว่างานนั้นจะใหญ่หรือผลตอบแทนดีแค่ไหน แต่ก็ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพของคุณ

ที่มา: WHO, WebMD, RAMA Channel

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส