การดูแลผิวพรรณเป็นกิจวัตรประจำวันที่ไม่ได้จำอยู่แค่เพศใดเพศหนึ่งหรือช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง หากคุณเป็นคนที่ใช้สกินแคร์เป็นประจำ คุณน่าจะคุ้นเคยกับประโยค “สกินแคร์ปราศจากสารอันตราย 5 / 7 / 9 ชนิด หรือปราศจากสารเคมีและสารพิษ” ซึ่งแบบนี้แหละที่เรียกว่าการตลาดแบบ Clean Beauty

Clean Beauty เป็นคอนเซ็ปต์การตลาดสกินแคร์ที่นิยมในฝั่งสหรัฐอเมริกาและแถบยุโรปมาเป็นเวลาหลายปี แต่ในไทยเองเพิ่งมีการใช้คำนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่ง Clean Beauty กลายเป็นสัญลักษณ์ของสกินแคร์ที่ปลอดภัย มาจากธรรมชาติ และไร้สารพิษ โดยสารพิษที่ว่ามักตกไปอยู่กับสารเคมีในกลุ่มของแอลกอฮอล์ พาราเบน น้ำหอม สี หรือแม้แต่มิเนอรัลออยล์

การตลาดแบบ Clean Beauty มักอ้างว่าจะไม่ทำให้ก่อการระคายเคือง ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกสกินแคร์ที่ปลอดภัยกับผิวได้ แต่คอนเซปต์ Clean Beauty มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่คุณควรทำความเข้าใจก่อนเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อยู่ภายใต้คอนเซปต์ที่ดูบริสุทธิ์และสวยงามนี้ เพราะคุณอาจกำลังถูกทำให้เข้าใจส่วนผสมและสกินแคร์แบบผิด ๆ อยู่

Hack for Health จะมาแฮกข้อเท็จจริงของส่วนผสมในสกินแคร์ที่อาจทำให้คุณเข้าใจผิดจากการตลาดแบบ Clean Beauty และเรื่องที่นักการตลาดไม่ได้บอกคุณอย่างตรงไปตรงมา

เปิดกระปุกรู้จักสารต้องห้ามในสกินแคร์แบบ Clean Beauty ที่จริง ๆ เราอาจแค่โดนหลอก

ก่อนที่จะไปเริ่มรู้จักกับสารต้องห้ามในสกินแคร์แบบ Clean Beauty ผู้เขียนต้องบอกก่อนว่าสารต้องห้ามที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ไม่นับรวมส่วนผสมสกินแคร์ อย่างสเตียรอยด์ สารปรอท ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ที่เป็นสารควบคุมอยู่แล้ว แต่เราจะพูดถึงส่วนผสมของสกินแคร์ที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด ถ้าเข้าใจแล้วมาดูกันเลย

1. แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มักถูกมองว่าเป็นสารที่ทำอันตรายต่อผิว ทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง แต่ในความเป็นจริง แอลกอฮอล์เป็นสารที่มีบทบาทสำหรับในสกินแคร์จำนวนไม่น้อย เพราะหน้าที่เป็นตัวทำละลายส่วนผสมหลายชนิดให้สามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวได้เร็วขึ้นและยังช่วยในเรื่องของเนื้อสัมผัสด้วย

หากคุณไม่ได้เป็นคนแพ้แอลกอฮอล์ สิ่งที่ควรโฟกัสจึงไม่ใช่ว่าสกินแคร์นั้นจะมีแอลกอฮอล์หรือไม่มี แต่เป็นชนิดของแอลกอฮอล์ต่างหาก

แอลกอฮอล์ในสกินแคร์มีทั้งแอลกอฮอล์สังเคราะห์และแอลกอฮอล์สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งสารบำรุงผิวบางชนิดก็อยู่ในรูปของแอลกอฮอล์ด้วยเหมือนกัน อย่างลาโนลิน (Lanolin) ที่ไม่ใช่แค่จะไม่ทำให้แพ้ แต่ยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วย

2. สารกันเสีย

สารกันเสียที่มีภาพลักษณ์เป็นตัวร้ายสำหรับผิว คงหนีไม่พ้น ‘พาราเบน’ ผลิตภัณฑ์จำนวนไม่น้อยที่บนฉลากเขียนว่า ‘ปราศจากพาราเบน’ สาเหตุที่หลายคนขยาดสารกันเสียชนิด เพราะมีการศึกษาที่พบว่าพาราเบนอาจรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายและนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ ซึ่งข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัด ส่วนพาราเบนรูปแบบที่มีการยืนยันว่าสัมพันธ์กับโรคมะเร็งถูกสั่งห้ามใช้ในทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ปริมาณพาราเบนในสกินแคร์ที่ถูกกฎหมายก็ต่ำมากและยังได้การตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อผิว ยกเว้นในคนที่มีอาการแพ้จริง ๆ

Fun fact: ในผลบลูเบอร์รีมีพาราเบนในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานของพาราเบนในสกินแคร์

แต่ถึงยังนั้นหลายแบรนด์ที่ทำการตลาดแบบ Clean Beauty ยังคงให้ข้อมูลทางอ้อมราวกับว่าสารกันเสียและพาราเบนนั้นเป็นตัวร้ายสำหรับผิว ทั้งที่สารกันเสียมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคในสกินแคร์ช่วยให้ยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้เราสามารถใช้ได้นานขึ้น

นอกจากนี้ บางแบรนด์ที่เขียนว่า ‘ปราศจากพาราเบน’ หรือ ‘ปราศจากสารกันเสีย’ ก็มักจะใส่สารอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายกับสารกันเสียและพาราเบนเข้ามาอยู่ดีเพื่อยืดอายุของสินค้า แต่อาจให้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าด้วย ซึ่งบางคนอาจเคยสงสัยเหมือนกันว่าสกินแคร์ที่บอกว่าไม่มีสารกันเสีย แต่มีอายุผลิตภัณฑ์ไม่ต่างกับสกินแคร์ที่ไม่ได้ภายใต้การตลาดแบบ Clean Beauty

3. น้ำหอม

โดยทั่วไปแล้วน้ำหอมสังเคราะห์ที่เพิ่มเข้าไปในสกินแคร์เพื่อจุดประสงค์ทางด้านกลิ่นโดยเฉพาะอาจนำไปสู่การระคายเคืองได้ โดยเฉพาะคนผิวแห้งและผิวแพ้ง่าย ซึ่งน้ำหอมเป็นส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นสำหรับสกินแคร์สักเท่าไหร่

แต่สารสกัดจากธรรมชาติจำนวนไม่น้อยมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหย อย่างสารสกัดจากลาเวนเดอร์ น้ำมันอาร์แกน หรือสารสกัดชาเขียวมักมีกลิ่นหอมติดมาด้วย แม้จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มของน้ำหอม แต่ส่วนประกอบของน้ำมันอาจทำให้คนที่แพ้น้ำหอมเกิดอาการระคายเคืองผิวได้เหมือนกัน ดังนั้น หากคุณกำลังสนใจสกินแคร์ Clean Beauty อาจจะต้องทำการบ้านหรือลองทดสอบอาการแพ้ก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ที่สารสกัดกลุ่มนี้

4. สีสังเคราะห์

สีสังเคราะห์เป็นอีกหนึ่งสารที่ไม่จำเป็นสำหรับสกินแคร์เลย ซึ่งสีสังเคราะห์สามารถทำให้ผิวเกิดการอักเสบและระคายเคืองได้ โดยการตลาดแบบ Clean Beauty ที่จัดว่าสีสังเคราะห์เป็นสารเคมีที่มีแนวโน้มทำร้ายผิวก็เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหรือสารสกัดบางชนิดอาจมีสีตามธรรมชาติอยู่และอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวระคายเคืองได้น้อยกว่า แต่ไม่การันตีเหมือนกัน

5. ซิลิโคน

ซิลิโคนเป็นส่วนผสมในสกินแคร์ที่ถูกเข้าใจผิดว่ามีส่วนทำให้ผิวเกิดการอุดตันและก่อให้เกิดสิว ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยพบว่าซิลิโคนทำให้เกิดการอุดตันได้น้อยมาก ในทางตรงกันข้ามประโยชน์ของซิลิโคนกลับมีหลากหลายกว่าที่คุณรู้ ทั้งช่วยให้เรื่องของความชุ่มชื้นของผิว ช่วยให้ผิวเรียบเนียน และลดริ้วรอย

6. น้ำมันแร่หรือ Mineral oil

เป็นอีกเรื่องที่น่าแปลกในการตลาดสกินแคร์แบบ Clean Beauty ที่น้ำมันแร่ (Mineral oil) กลายเป็นสารต้องห้ามในสกินแคร์ เพราะน้ำมันแร่เป็นสารให้ความชุ่มชื้นที่เป็นประโยชน์มากสำหรับผิว โดยเฉพาะคนผิวแห้ง เพราะเป็นสารในกลุ่ม Occlusive ที่ช่วยเคลือบผิวเพื่อป้องกันน้ำในชั้นผิวระเหยออกไป ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็ไม่เกิดการอุดตันหรือเป็นอันตราย แถมยังเป็นส่วนผสมสกินแคร์ที่มีประวัติการใช้งานที่ยาวนานและผลข้างเคียงต่ำมาก

7. ปิโตรลาทัม (Petrolatum)

สาเหตุส่วนหนึ่งที่สารในกลุ่ม Occlusive ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวร้ายสำหรับผิว เพราะว่าให้ความรู้สึกเหมือนการเอาสารปิโตรเลียม อย่างพวกน้ำมันที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมมาทาผิวเลยทำให้หลายคนรู้สึกว่าต้องเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือสัมผัสของปิโตรลาทัมที่ค่อนข้างหนัก คนจึงรู้สึกว่าต้องอุดตันรูขุมขน ทั้งที่การทดสอบจำนวนหลายชิ้นพบว่าค่าความอุดตันของสารชนิดนี้เป็นศูนย์

นอกจากนี้ ยังมีสารอีกหลายชนิดที่ถูกการตลาดแบบ Clean Beauty ทำร้าย ซึ่งสารจำนวนไม่น้อยที่การตลาดแบบหมกเม็ดนี้ได้สร้างความเข้าใจผิดกลับเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสารที่ Clean Beauty แบบใหม่นำมาใส่ในสกินแคร์ของตัวเองด้วยซ้ำ

ทำไมตลาด Clean Beauty ถึงได้รับความนิยม?

การตลาดแบบ Clean Beauty เริ่มขึ้นจากการที่แบรนด์สกินแคร์บางแบรนด์ต้องการสร้างมาตรฐานในการนำเสนอสารในผลิตภัณฑ์อย่างโปร่งใส แต่ในแง่ของการตลาด Clean Beauty ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างยอดขายผ่านการสร้างความกลัวให้กับผู้คนด้วยการนำงานวิจัยที่พบว่าสารต่าง ๆ ที่ได้เล่าไปนั้นทำให้เกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ

ซึ่งงานวิจัยที่นักการตลาดหัวใจแต่ใจไม่ซื่อได้ยกมาเล่าให้ผู้บริโภคฟังคืองานวิจัยในหนูทดลองที่ให้หนูกินสารต่าง ๆ ในปริมาณที่มากกว่าที่พบในสกินแคร์หลายพันเท่า โดยไม่ได้บอกวิธีในการศึกษาทั้งหมด จนทำให้ผู้คนเข้าใจผิดและเลือกที่จะเลี่ยงการใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมเหล่านั้น เพราะความกลัว ทั้ง ๆ ที่ ผลไม้หรืออาหารบางชนิดยังมีปริมาณของส่วนผสมในสกินแคร์ที่ถูกการตลาดแบบ Clean Beauty ใส่ร้ายในปริมาณที่มากกว่าในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวด้วยซ้ำ

บางแบรนด์ถึงขั้นอ้างว่าสกินแคร์ของแบรนด์ตัวเอง ปราศจากสารเคมี ทั้งที่ความเป็นจริง สารทุกสารบนโลกนี้ล้วนเป็นสารเคมีด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติหรือสังเคราะห์ แต่ผู้ผลิตกลับนำความกลัวที่ผูกติดมากับคำว่าสารเคมีมาใช้ในทางการตลาดเพื่อขายสินค้าของตัวเอง และอีกสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรู้คือ มาจากธรรมชาติ ≠ ไม่แพ้หรือระคายเคือง เพราะการใช้สกินแคร์ใด ๆ ก็ตามล้วนมีความเสี่ยงที่จะแพ้ไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงปริมาณและระยะเวลาที่ใช้ติดต่อกันด้วย เพราะต่อให้คุณใช้สารบำรุงผิวที่ขึ้นชื่อว่าปลอดภัย แต่ใช้มากเกินไปเป็นพิษได้เหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าการตลาดแบบ Clean Beauty ไม่มีหลักการที่จับต้องได้ในการบอกว่าสารไหนเป็นสารอันตราย แต่เป็นการใช้ความรู้สึกของผู้คนมาชักจูงมากกว่า การเป็นผู้บริโภคที่ช่างสังเกตและใฝ่รู้จะช่วยให้คุณรอดพ้นจากการตลาดสกินแคร์แบบ Clean Beauty และรูปแบบอื่น ๆ ได้ โดยวิธีที่ง่ายและได้ผลในการเลือกใช้สกินแคร์อย่างปลอดภัยคือการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและควรลองใช้ในปริมาณเล็กน้อยเพื่อทดสอบอาการแพ้ก่อนเสมอ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส