คำว่าตลอดกาลเป็นคำขยายที่ดูยิ่งใหญ่และเป็นนามธรรมในโลกแห่งวัตถุที่จะเสื่อมสลายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง คำว่าตลอดกาลจึงมักไม่สามารถนำมาใช้กับอะไรที่จับต้องได้ในชีวิตประวันสักเท่าไหร่ แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ PFAS (Per and Polyfluoroalkyl Substances) สารเคมีที่เป็นพิษและถูกขนานนามว่า ‘สารเคมีตลอดกาล’ หรือ ‘Forever Chemical’

สารเคมีตลอดกาลเป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีหลายพันชนิด และแต่ละชนิดก็ล้วนอยู่ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราในทุกวัน Hack for Health เลยจะพาคุณมารู้จักกับสารเคมีชนิดนี้

ทำไมถึงเรียก PFAS ว่าสารเคมีตลอดกาล?

ในการศึกษาด้านเคมี สารเคมีบนโลกนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าค่าครึ่งชีวิต (Half Life) ซึ่งค่าครึ่งชีวิตเป็นระยะเวลาที่สารเคมีชนิดนั้นจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป โดยต่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PFAS เป็นส่วนประกอบถูกทำลายไป แต่สาร PFAS จะยังคงปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในน้ำ ในดิน ในอากาศได้อีกหลายพันปี

การศึกษาพบว่าสารประกอบหรือโครงสร้างของ PFAS บางตัวมีค่าครึ่งชีวิตในดินมากกว่า 1,000 ปี ซึ่งระยะเวลาที่กว่าสารนี้จะสลายไปจนหมดสิ้นจึงเนิ่นนานมาก แม้จะไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ก็นานพอที่นักวิทยาศาสตร์ให้ชื่อเรียกกับ PFAS ว่าสารเคมีตลอดกาลนั่นเอง

สารเคมีตลอดกาลส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันพบความเป็นไปได้ว่าการสัมผัสสารเคมีตลอดกาลในระดับหนึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ เช่น

  • เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ส่งผลให้เอนไซม์ในตับทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน
  • เพิ่มความเสี่ยงของภาวะมีลูกยาก โดยเฉพาะในผู้หญิง และอาจทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะครรภ์เป็นพิษมากขึ้น
  • ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กและทารก ทำให้เติบโตช้า คลอดออกมาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โครงสร้างกระดูกผิดปกติ
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งอัณฑะ และโรคมะเร็งไต
  • ลดการทำงานของภูมิคุ้มกันและส่งผลให้วัคซีนป้องกันโรคได้ผลน้อยลง

ผลกระทบเหล่านี้เป็นการสรุปจากการศึกษาในภาพรวม ดังนั้น คุณอย่าเพิ่งตกใจไป ในปัจจุบันนักวิจัยศึกษายังคงศึกษาผลกระทบ ปริมาณ ระยะเวลา และข้อมูลอื่นของสาร PFAS เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลกระทบที่แน่ชัด

สารเคมีตลอดกาลพบที่ได้ไหนบ้าง?

จากการสำรวจในปัจจุบัน เราสามารถพบ สัมผัส และได้รับสารเคมีตลอดกาลได้จากหลายแหล่งมา เช่น

กลุ่มอาหารและน้ำดื่ม

  • น้ำดื่ม
  • กุ้ง หอย ปู ปลา หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสาร PFAS
  • ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มปศุสัตว์ที่เลี้ยงในพื้นที่ที่ปนเปื้อน PFAS อย่างดินหรือแหล่งน้ำ
  • พืชผลทางการเกษตรปลูกในพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนสารเคมีตลอดกาล

กลุ่มของใช้ในบ้านและของใช้ส่วนตัว

  • บรรจุภัณฑ์อาหาร อย่างกระดาษซับน้ำมันจากอาหาร กล่องอาหารใช้แล้วทิ้ง กระดาษห่ออาหาร ถุงกระดาษบางชนิด
  • ผลิตภัณฑ์ที่กันน้ำ กันคราบส่วนใหญ่
  • หม้อหรือกระทะแบบ Non-Stick
  • สบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง ไหมขัดฟัน สกินแคร์
  • เครื่องหนัง เสื้อผ้า
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • สีชนิดต่าง ๆ สารเคลือบเงา สารกันน้ำ
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • โฟมสำหรับดับเพลิง

นอกจากนี้ ดินและแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีตลอดกาล หรือใกล้กับพื้นที่กำจัดขยะก็สามารถปนเปื้อนสารชนิดนี้ได้ด้วย จะเห็นได้ว่าสาร PFAS อยู่ในแทบทุกอย่าง แต่ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตามที่ได้บอกไป เพราะโดยปกติร่างกายมนุษย์สามารถจัดการกับสารเคมีได้ในระดับหนึ่งแล้ว และของกิน ของใช้ส่วนใหญ่มักผ่านการตรวจสอบมาจากผู้ผลิตแล้วว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

แต่คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับสารเคมีตลอดกาลนอกเหนือจากของใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสและสูดดมสารเคมี คนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือพื้นที่กำจัดขยะ เพราะสารนี้สามารถลอยในอากาศได้ด้วย 

วิธีลดการได้รับสารเคมีตลอดกาล

การจะเลี่ยงทุกอย่างที่อาจมีสาร PFAS อาจไม่สามารถทำได้ หรืออาจทำได้ แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก Hack for Health เลยเตรียมวิธีที่คุณพอจะทำได้เพื่อลดการได้รับสารเคมีตลอดกาลมาให้คุณได้ลองไปปรับใช้ด้วย

  • เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่กันคราบ กันน้ำ
  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อลดปริมาณสาร PFAS ในบ้าน
  • ใช้เครื่องกรองน้ำเพื่อกรองสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาให้ได้มากที่สุด
  • เลี่ยงการกินอาหารที่ต้องใส่กล้องสำเร็จรูปหรือการใส่กล่องอาหารแบบใช้ซ้ำ
  • เปลี่ยนมาใช้หม้อหรือกระทะแบบปกติ แทนแบบ Non-Stick
  • สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และแว่นตาทุกครั้งที่สัมผัสกับสารเคมี

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและลดความเสี่ยงของการได้รับสารเคมีตลอดกาลหรือสาร PFAS ได้แล้ว Hack for Health ขอบอกคุณอีกทีว่าแม้สารกลุ่มนี้ตกค้างได้นานเป็นพันปี แต่ผลกระทบที่ได้บอกไปเป็นการศึกษาสารเคมีตลอดกาลบางชนิดจากหลายพันชนิดเท่านั้น ซึ่งสารบางอย่างอาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้น อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป แต่ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเป็นประจำด้วย

ที่มา: CDC, EPA, WebMD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส