เด็กหลายคน รวมถึงผู้ใหญ่บางคนมีนิสัยชอบกัดเล็บตนเอง จนบางครั้งเล็บสั้นกุดทำให้ติดเชื้อ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงติดนิสัยนี้ไม่หายสักที เคยสงสัยหรือไม่ว่าพฤติกรรมที่ชอบกัดเล็บมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะแม้ว่าพฤติกรรมนี้จะไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพในระยะยาวก็จริง แต่ก็สามารถพัฒนาไปสู่ปัญหาระยะยาวที่รุนแรงได้เช่นกัน

การกัดเล็บมักเริ่มขึ้นในวัยเด็ก เป็นเรื่องปกติที่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบจะกัดเล็บอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอาจติดเป็นนิสัยไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน 

สาเหตุของพฤติกรรมชอบกัดเล็บ

สาเหตุของพฤติกรรมที่ชอบกัดเล็บนั้นอาจมาจากพันธุกรรม แต่ขณะเดียวกันการกัดเล็บก็มักเกี่ยวกับความวิตักกังวล เพราะการกัดหรือเคี้ยวเล็บตนเองจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดและความเบื่อหน่ายลงได้ คนที่กัดเล็บจนเป็นนิสัยมักจะบอกว่าพวกเขาทำเช่นนั้นเมื่อรู้สึกกระวนกระวายใจ เบื่อ เหงา หรือแม้แต่เวลาที่หิว นอกจากนี้ การกัดเล็บยังเป็นนิสัยที่ติดมาจากการชอบดูดนิ้วหัวแม่มือในวัยเด็ก รวมถึงสามารถเชื่อมโยงไปถึงโรคสมาธิสั้น และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ความรู้สึกของผู้มีพฤติกรรมชอบกัดเล็บ

  • ความรู้สึกไม่สบายใจหรือตึงเครียดก่อนกัดเล็บ
  • ความรู้สึกโล่งใจหรือมีความสุขหลังจากกัดเล็บ
  • ความรู้สึกละอายใจ วิตกกังวล รู้สึกผิดเมื่อมองไปที่สภาพผิวหนังและเล็บของตนเอง
  • กลัวคนอื่นเห็นเล็บ หรือรังเกียจเล็บตนเอง
  • ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมตึงเครียดหรือซับซ้อน โดยอาจเกิดจากการหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

ผลข้างเคียงจากการกัดเล็บ

  • เล็บและผิวหนังเสียหายหรือผิดรูป 
  • เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือติดเชื้อรา 
  • เกิดอาการปวดที่ปาก หรือฟันถูกทำลาย 
  • ผู้ที่กลืนเล็บที่กัดเข้าไปอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ เนื่องจากเล็บและนิ้วมือมักเป็นพาหะของแบคทีเรียหรือไวรัส การกัดหรือกลืนเล็บเข้าไปอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร

การกัดเล็บถือเป็นโรคทางจิต ?

ในทางการแพทย์มีการพูดถึงโรคกัดเล็บ (Onychophagia) ซึ่งเป็นคำใช้เรียกสำหรับคนที่มีพฤติกรรมชอบกัดเล็บเป็นประจำหรือเรื้อรัง โดยโรคกัดเล็บเป็นหนึ่งในพฤติกรรม Body-Focused Repetitive Behaviors (BFRBs) และอาจเกิดร่วมกับ BFRBs ประเภทอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมชอบดึงผมตนเอง เป็นต้น 

นอกจากนี้ พฤติกรรมกัดเล็บยังเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตและปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคสมาธิสั้น ภาวะซึมเศร้า และภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญยังพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมกัดเล็บมีความเสี่ยงของภาวะไฮเปอร์ มีปัญหาด้านอารมณ์ และปัญหาการเข้ากับเพื่อนวัยเดียวกันสูงกว่าเด็กที่ไม่กัดอีกด้วย ดังนั้น พฤติกรรมที่ชอบกัดเล็บจึงมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางอารมณ์ 

วิธีการรักษา

สำหรับคนที่มีพฤติกรรมชอบกัดเล็บในขั้นที่ไม่รุนแรง อาจใช้วิธีในการห้ามตนเองง่าย ๆ ด้วยการทาครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีรสขมบนเล็บ ซึ่งวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับคนที่มีอาการที่รุนแรง หรือบางคนอาจจะใช้วิธีสวมถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองกัดเล็บง่าย ๆ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะใช้แก้อาการได้อย่างสม่ำเสมอ และอาจไม่เหมาะสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว

แต่สำหรับคนที่มีพฤติกรรมกัดเล็บที่รุนแรง การรักษาอาจต้องให้แพทย์เป็นคนช่วยรักษาเพื่อหาทิศทางที่เหมาะสมกับตนเอง โดยแพทย์อาจมุ่งเน้นไปที่ตัวกระตุ้นหรือดูว่าปัจจัยทางอารมณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกัดเล็บ แต่การจะรักษาอาการเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กัดเล็บควบคู่ไปกับการให้กำลังใจ และการติดตามผลจนกว่าจะหายจากพฤติกรรมเหล่านี้

การกัดเล็บ อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรืออาจเป็นพฤติกรรมที่มักเริ่มขึ้นในวัยเด็ก และรุนแรงขึ้นในช่วงวัยรุ่น แม้ว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่มักจะลดลงไปตามอายุ ในหลายกรณีจะหยุดพฤติกรรมนี้ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น แต่หากคุณพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้จนกลายเป็นทำให้เสียบุคลิกภาพ หรือมีปัญหาการเข้าสังคม คุณอาจแนะนำพวกเขาให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ที่มา psychologytoday , news-medical , pobpad

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส