“All animals are equal, but some animals are more equal than others” – “เหล่าสัตว์ทั้งหลายนั้นล้วนเท่าเทียม แต่สัตว์บางเหล่านั้นเท่าเทียมยิ่งกว่า”

Animal Farm – George Orwell

หากวรรคทองจากนิยายดิสโทเปีย (Dystopia) ชื่อดังของจอร์จ ออร์เวล (George Orwell) ที่ได้พูดถึงนี้ หมายถึงคนกลุ่มน้อยที่ได้อภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นที่พูดประหนึ่งว่าทุกคนเท่าเทียมกัน LGBTQ ในไทยและในหลายประเทศอาจตรงกันข้าม เพราะเป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกละเลยสิทธิในความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียม

ในโลกยุคปัจจุบัน ความหลากหลายทางเพศและความหลากหลายในตัวตนแตกแขนงออกไปมากกว่าขอบเขตของชาย หญิง ตุ๊ด กะเทย เกย์ ทอม ดี้ หรือเลสเบียนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย จนต้องมีเครื่องหมาย + ต่อท้าย แม้จะหลากหลายและซับซ้อน แต่ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน

ทุกวันนี้ในประเทศไทย LGBTQ ได้รับการยอมรับมากขึ้นจนการเป็น LGBTQ แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม แต่สิทธิ์ในการแต่งงานในทางกฎหมายกลับถูกสงวนไว้ซึ่งชายจริงหญิงแท้ตามเพศกำเนิดเท่านั้น

การสมรสเท่าเทียมอย่างถูกกฎหมายไม่ได้แค่การให้ LGBTQ จดทะเบียนหรือแต่งงานกันได้ แต่ต้องได้รับสิทธิเหมือนการจดทะเบียนสมรสของเพศชายหญิง ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยให้ตัวตนของทุกคนถูกยอมรับในทางกฎหมายและได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง แต่นังส่งผลต่อสุขภาพจิตของ LGBTQ ได้ด้วย

เดิมทีคนที่เป็นเพศทางเลือกมักมีความเสี่ยงของปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ได้มากกว่าผู้ชายและผู้หญิง อย่างภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเอง และปัญหาอื่น ๆ เนื่องจากความกดดันทางสังคมและครอบครัว ความกลัวต่อการถูกเลือกปฏิบัติ การถูกปฏิเสธ การถูกตีตราว่าผิดปกติ ไปจนถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการกดขี่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในบทความนี้ Hack for Health จะมาเล่ากรณีศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์ในการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสุขภาพจิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ประเทศเนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งมีการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของชาวดัตช์ (คนเนเธอร์แลนด์) แบบสุ่มต่อเนื่องกันทุกเดือนเป็นเวลาหลายปี ทั้งในกลุ่มชายจริงหญิงแท้ และ LGBTQ ผ่านระบบข้อมูลที่เรียกว่า Permanent Life Situation Study (POLS) ที่เป็นฐานข้อมูลเชิงสถิติของประเทศเนเธอร์แลนด์

ซึ่งด้านล่างนี้คือสถิติของภาวะสุขภาพจิตของชาวดัตช์ตั้งแต่ปี 1998–2008

ตารางค่าบ่งชี้ของภาวะซึมเศร้า

ตารางค่าบ่งชี้ของภาวะวิตกกังวล

โดยจากตารางจะเห็นได้ว่าค่าบ่งชี้ของสภาวะทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลลดลงตั้งแต่ช่วงก่อนผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมและลดลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่สุขภาพจิตของ LGBTQ เท่านั้นที่ดีขึ้น แต่สุขภาพของคนตรงเพศก็ดีขึ้นด้วยเหมือนกัน แม้ว่าข้อมูลเชิงสถิตินี้ไม่ได้บอกถึงตัวแปรอื่น ๆ อย่างสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือสภาวะบ้านเมืองของประเทศเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ด้วยเหมือนกันก็ตาม

สมรสเท่าเทียมเป็นหนึ่งในกลไกทางกฎหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมให้กับ “ความรักของมนุษย์” โดยที่ไม่สนว่าเพศสภาพ เพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศของคุณจะเป็นแบบไหน เพราะสุดท้ายมันก็คือความรักของมนุษย์ไม่ต่างกัน

ที่มา: CEPR

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส