รสชาติความหวานเป็นสิ่งที่หลายคนหลงใหล แต่ยิ่งหวาน น้ำตาลยิ่งสูง พลังงานก็สูงตามไปด้วย ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าเมื่อกินน้ำตาลในปริมาณมากและติดต่อกันสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคได้หลายโรค

แต่เชื่อว่าเวลาเมื่อคนจำนวนไม่น้อยได้กินของหวานมักจะหยุดได้ยากเสมอ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าการกินมากเกินไปส่งผลต่อสุขภาพ หากถามหาเหตุผลว่าทำไมถึงชอบกินของหวานก็คงเพราะความชอบในรสชาติ แต่เบื้องหลังความหลงใหลในรสชาติแล้วยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรมและการทำงานของสมองมาเกี่ยวข้องด้วย

พลังงาน การเอาตัวรอด และสาเหตุที่คนชอบกินของหวาน

น้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยน้ำตาล 1 กรัม = 4 กิโลแคลอรี ถ้าเห็นแบบนี้เแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่เยอะเท่าไหร่ แต่โดยค่าเฉลี่ยปริมาณการบริโภคน้ำของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 100 กรัม/วัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน หากได้รับเกินจากนี้ ร่วมกับการที่คุณได้รับพลังงานจากอาหารอื่น ๆ ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่คุณได้รับไปเป็นไขมันสะสมในร่างกาย

ซึ่งด้วยความที่น้ำตาลให้พลังงานสูงนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้คนในทุกยุคทุกสมัยแสวงหาความหวานกันอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งขนม เครื่องดื่ม และอาหาร โดยในทางทฤษฎีด้านวิวัฒนาการของมนุษย์เชื่อกันว่าสาเหตุที่มนุษย์หลงใหลในความหวานนั้นมาจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่อยู่ลึกลงไปในระดับพันธุกรรม

แม้ว่าทุกวันนี้เราสามารถหาอาหารและเครื่องดื่มได้ง่าย ๆ แต่บรรพบุรุษของเราที่ใช้ชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปี หลายหมื่นปี หรือแม้แต่หลายแสนปีก่อนไม่ได้มีมินิมาร์ตหรือฟู้ดเดลิเวอรี ผู้คนในอดีตใช้ชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์เพื่อหาอาหารมาเติมพลังงานและเอาชีวิตรอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

การพบต้นไม้ที่มีผลไม้สุกงอมรสชาติหวานหอมหรือน้ำผึ้งในยุคนั้นไม่ต่างจากการเจอขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล เพียงแค่มันอยู่ในรูปแบบของพลังงานจากความหวาน บรรพบุรุษของเราจึงสวาปามผลไม้เหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งความอร่อยอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักคือพลังงานที่หาได้ยากยิ่งและสามารถเก็บไว้ในรูปแบบของไขมันสะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเมื่อขาดอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการเชื่อว่าเราสืบทอดสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากการอดอาหารจนตายมาจากบรรพบุรุษผ่านวิวัฒนาการหลายหมื่นปี จึงไม่แปลกที่เวลาเราเจอของอร่อย ไม่ว่าจะเป็นของหวาน ของทอด ของมัน โดยเฉพาะบุฟเฟต์ เราถึงได้สวาปามอาหารอย่างเอร็ดอร่อยไม่ต่างจากบรรพบุรุษในอดีต ซึ่งช่วยเติมเต็มทั้งกระเพาะอาหารและความรู้สึก แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

ของหวานกับสารความสุขในสมอง

เมื่อเรากินของหวานเข้าไป น้ำตาลจะถูกย่อยและลำเลียงไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกาย แต่นอกจากน้ำตาลจะให้พลังงานแล้ว เมื่อสมองเราได้รับน้ำตาล โดพามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุขจะผลิตออกมามากขึ้น เลยทำให้รู้สึกดีเมื่อกินของหวาน

แต่การได้รับน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้การหลั่งโดพามีนตามธรรมชาติบกพร่องลง อย่างผลิตออกมาในปริมาณน้อยลงหรือความถี่ในการผลิตห่างกันมากขึ้น จึงไม่แปลกที่คนชอบกินหวาน เวลาที่ไม่ได้กินของหวานเลยจะรู้สึกไม่สดใสเท่าปกติ

การกินของหวานในปริมาณมากติดต่อเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นำไปสู่โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือด เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะไขมันพอกตับ ทั้งยังทำให้ให้เซลล์สมองเสื่อมและหดตัวลง เกิดหลอดเลือดสมองตีบและเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย

ดังนั้น การกินของหวานและอาหารนานาชนิดทีละมาก ๆ ตามรอยบรรพบุรุษของเราแบบไม่คิดหน้าคิดหลังอาจไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะในโลกปัจจุบันคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอาหารได้ง่ายและไม่ต้องเอาตัวรอดแบบคนในอดีต

แถมทุกวันนี้เรายังเคลื่อนไหวน้อยมากจากวิถีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น แต่การห้ามกินของอร่อยไม่ใช่อะไรที่ห้ามกันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้สร้างความสุขให้เราได้ไม่น้อย การกินในปริมาณที่เหมาะสมน่าจะตอบโจทย์ทั้งในการใช้ชีวิตและสุขภาพ ทั้งหมดนี้น่าจะตอบคำถามเราได้ว่าทำไมมนุษย์เราถึงหลงใหลในความหวานได้ขนาดนี้

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3

ภาพปก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส