คอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาอยู่ในการทำงานและเป็นส่วนหนึ่งการใช้ชีวิตของผู้คนทุกคนวันนี้ ในแต่ละวันผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้เวลาไปกับหน้าจอคอมวันละหลายชั่วโมง ซึ่งนั่นอาจทำให้เสี่ยงต่อ Computer Vision Syndrome หรือ CVS ได้ และไม่ใช่แค่คนวัยทำงานเท่านั้น เด็ก ๆ ที่เรียนออนไลน์หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยก็เสี่ยงต่อ CVS เช่นกัน

CVS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการจ้องหน้าจอนานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ส่งผลให้เกิดอาการตาล้า ปวดตา แสบตา และอาการอื่น ๆ ตามมา แต่จะเลี่ยงไม่ดูจอเลยก็คงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นมารู้จักกับ CVS ให้มากขึ้น พร้อมกับวิธีดูแลสายตาของคุณให้ชัดแจ๋วเหมือนเคย แม้ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอ

อาการของ CVS มีอะไรบ้าง?

CVS ไม่ได้ทำให้เกิดอาการเฉพาะเกี่ยวกับดวงตาเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดอาการในส่วนอื่นได้ด้วย

  • ตาล้า
  • ตาพร่า ตามัว เห็นภาพซ้อน
  • ตาแห้ง ตาแดง และระคายเคือง
  • ปวดหัว
  • ปวดคอและไหล่

อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายได้เองเมื่อคุณหยุดจ้องหน้าจอสักพัก แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อคุณกลับมาใช้หน้าจอนาน ๆ

ทำไมถึงเป็น CVS?

Computer Vision Syndrome เกิดจากการที่คุณจ้องหน้าจอดิจิทัลนานเกินไป จากข้อมูลพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วอาการนี้มักเกิดขึ้นเมื่อคุณจ้องจอติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป สาเหตุก็มีหลายอย่างด้วยกัน ส่วนหนึ่งมาจากความคมชัดของตัวหนังสือบนหน้าจอ แม้คุณจะรู้สึกว่าหน้าจอแสนแพงที่ซื้อมามีความคมชัด แต่ตาเราอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เพราะดวงตามักเพ่งตัวหนังสือบนหน้าจอโดยที่ไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้คุณเสี่ยงต่ออาการนี้มากขึ้น เช่น

  • แสงไฟจากหน้าจอและสภาพแวดล้อมที่ไม่สมดุลกัน
  • แสงสะท้อนบนหน้าจอ
  • ระยะห่างของดวงหน้ากับหน้าจอไม่เหมาะสม
  • ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
  • ปัญหาการมองเห็นที่ไม่ได้รับการรักษา อย่างสายตาสั้น ยาว หรือเอียง

ดูแลสายตาอย่างไรให้ห่างไกลจาก CVS เมื่อต้องใช้จอทั้งวัน

อาการของ CVS อาจทำให้คุณหงุดหงิดและไม่มีสมาธิในการทำงานได้ แต่จะให้ไม่เล่นมือถือเลยก็ไม่ได้ หรือบางคนต้องทำงานอยู่กับหน้าจอทั้งวันจึงไม่สามารถเลี่ยงได้เลย ซึ่งเราก็มีเคล็ดลับในการดูแลดวงตาเมื่อต้องใช้เวลากับหน้าจอมาฝากกัน

1. กฎ 20:20:20

กฎ 20:20:20 เป็นเทคนิคในการป้องกันดวงตาจาก CVS ที่จักษุแพทย์แนะนำ ซึ่งจะช่วยให้เราพักสายตาได้อย่างเหมาะสม เริ่มตั้งแต่การพักสายตาทุก 20 นาที ด้วยการมองสิ่งที่อยู่ไกลออกไป 20 ฟุต (6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที จากนั้นคุณก็กลับไปใช้เวลากับหน้าจอของคุณต่อได้

ถ้าจะบอกว่า 20 ฟุตหรือ 6 เมตร หลายคนน่าจะกะไม่ถูก วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการมองอะไรก็ได้ที่อยู่ไกลออกไป มองออกไปนอกหน้าต่าง หรือหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น และหากคุณมักทำงานเพลินไม่ทันดูเวลา แนะนำให้ตั้งเวลาไว้ทุก 20 นาทีเพื่อพักสายตาด้วยวิธีนี้

2. ปรับแสงให้เหมาะสม

การปรับแสงให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความสว่างของหน้าจอที่คุณกำลังใช้อยู่หรือจะเป็นแสงจากสภาพแวดล้อมรอบข้างจะช่วยลดแสงสะท้อนจากหน้าจอ ลดอาการเคืองตาจากแสงหน้าจอที่สว่างเกินไป และลดการเพ่งหรือจ้องจอโดยไม่รู้ตัว

ปัจุบันในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป และสมาร์ตโฟนจะมีฟีเจอร์ในการปรับแสงหน้าจอ อย่าง Night shift ของฝั่ง IOS และ Blue light filter จากทาง Android ที่จะช่วยลดแสงสีฟ้าจากหน้าจอก็อาจช่วยได้

3. ปรับท่านั่งให้เหมาะสม

การปรับท่านั่งให้เหมาะสมจะช่วยให้สายตาคุณทำงานน้อยลงและช่วยลดความเสี่ยงของออฟฟิศซินโดรม วิธีง่าย ๆ คือการตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระยะสายตาที่คุณไม่ต้องก้มหรือเงย ปรับฟอนต์ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องจ้องจอใกล้ ๆ และปรับความสูงของเก้าอี้ให้มือของคุณสามารถวางบนคีย์บอร์ดได้พอดีโดยไม่ต้องยกไหล่

ใครที่ตาแห้งสามารถไปหาซื้อน้ำตาเทียมมาติดโต๊ะไว้ สำหรับใครที่มีปัญหาสายตาก็ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาอย่างเหมาะสม ส่วนแว่นกรองแสงสีฟ้า จากข้อมูลล่าสุดยังพบว่าแว่นชนิดนี้ไม่มีส่วนช่วยในการปกป้องดวงตาจากแสงหน้าจอ แต่หากใครงบเหลืออยากลองซื้อมาใช้ก็ไม่เสียอะไร

ในยุคดิจิทัลแบบนี้ ผู้คนยังคงต้องพึ่งพาหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อไป ดังนั้น อย่าลืมที่จะดูแลดวงตาของคุณอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกัน CVS และปัญหาอื่นเกี่ยวกับดวงตา ถ้าหากคุณคันตา เคืองตามากกว่าปกติ ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน แม้จะหลังหยุดใช้งานหน้าจอสักพักแล้ว แนะนำว่าลองไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3

ภาพปก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส