สังคมก้มหน้าเป็นสิ่งที่มนุษย์ในยุคดิจิทัลเผชิญกันอยู่ในทุกวัน และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นด้วย แต่การก้มหน้าก้มตาเล่นสมาร์ตโฟน หรือแม้แต่ก้มหน้าจ้องคอมพิวเตอร์ระหว่างทำงาน ดูซีรีส์ หรือเล่นเกมสามารถทำให้คุณเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม อาการปวดคอ ปวดไหล่ ไปจนถึงปวดหัวได้เลยนะ

หัวหรือศีรษะของมนุษย์เมื่อโตเต็มวัยแล้วมีน้ำหนักเฉลี่ยราว 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว แต่กระดูก และกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหลังก็ถูกออกแบบโดยธรรมชาติมาเป็นอย่างดีเพื่อแบกหัวของเราไว้บนบ่าอย่างมั่นคง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าทุกครั้ง และทุกองศาที่เราก้มหน้าทำอะไรสักอย่างน้ำหนักของหัวเราอาจเพิ่มขึ้นหลายเท่า และทำให้กล้ามเนื้อ และกระดูกที่รองรับหัวของเราไว้ทำงานหนักขึ้น

องศาการก้มหน้า และน้ำหนักหัวเพิ่มมากขึ้น

การก้มหน้าที่ทำให้น้ำหนักของหัวเราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 5 ถึง 6 เท่าเลยทีเดียว การศึกษาในปี 2014 พบว่าน้ำหนักหัวของเราจะเพิ่มขึ้นตามองศาที่ก้ม ดังนี้

  • 15 องศา เพิ่มขึ้นเป็น 12 กิโลกรัม
  • 30 องศา เพิ่มขึ้นเป็น 18 กิโลกรัม
  • 45 องศา เพิ่มขึ้นเป็น 22 กิโลกรัม
  • 60 องศา เพิ่มขึ้นเป็น 27 กิโลกรัม

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปตามขนาดสรีระของแต่ละคน แต่บางข้อมูลก็พบว่าอาจเพิ่มได้งถึง 30 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่ากระดูก และกล้ามเนื้อตั้งแต่คอไปจนถึงสันหลังที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักแค่ 5 กิโลกรัมอาจต้องรับน้ำหนักของหัวที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติอย่างมาก เมื่อทำติดต่อกันนาน และทำเป็นประจำทุกวันอาจทำให้เกิดการเสื่อม และอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเอ็น ไปจนถึงการผิดรูปของกระดูก และข้อต่อด้วย ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อไปนี้ตามมา

  • ปวดตึงคอ ไหล่ และหลัง
  • ปวดหัว และปวดตาจากกล้ามเนื้อตึงตัว
  • ไหล่งุ้ม หลังค่อม
  • หายใจลำบาก หรือหายใจไม่สะดวก
  • ปัญหาเรื่องสมดุลร่างกาย และการทรงตัว

โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านอื่น เช่น ไม่สบายตัว รู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก หลับไม่สนิท และเสียบุคลิกภาพ ในระยะยาวอาจส่งผลให้กระดูกบริเวณที่ได้รับผลกระทบเสื่อมได้เร็วหรือมากขึ้นด้วย

วิธีแก้ปัญหาการก้มหน้าจ้องจอ

ท่าทางการก้มหน้าเล่นมือถือ หรือจ้องจอเลี่ยงได้ยาก เพราะชีวิตคนส่วนใหญ่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการทำงาน และการใช้ชีวิต แต่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้หลายวิธี

  • เช็กท่าทางตัวเองขณะใช้มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นประจำ
  • ลดระยะเวลาการใช้มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตา
  • ใช้แท่นวางแล็ปท็อปเพื่อให้หน้าจอสูงขึ้น
  • ลุกไปพักทุก 30 ถึง 60 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อจากการก้มหน้ามองจอ
  • ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของคอ ไหล่ และหลัง

นอกจากนี้ สามารถดูแลตัวเองด้วยการปรับท่าทางการทำงานอื่น ๆ อย่างการนั่งเก้าอี้ให้ฝ่าเท้าสัมผัสพื้น นั่งหลังตรงไม่ห่อไหล่ วางเมาส์ และคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับที่ศอกเป็นมุมฉากเมื่อใช้งาน เลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เลี่ยงการยืนทิ้งน้ำหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการปรับท่าทางในภาพรวมสามารถช่วยลดอาการจากออฟฟิศซินโดรมได้ ไม่เฉพาะแค่อาการปวดจากการก้มหน้าเล่นมือถือ

สำหรับคนที่มีอาการปวดหลายวันติดต่อกันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ แนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาการปวดมักรักษาได้ง่ายเมื่อไปพบแพทย์เร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรังอาจต้องใช้เวลาในการรักษา และฟื้นตัว
ที่มา MedicalNewsToday

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส