การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง (Urban Green Space) เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะในปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่พบว่าพื้นที่นี้ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองด้วย

Hack for Health เลยอยากให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอะไรก็ตามแต่ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ของคุณผ่านบทความนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพ

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแผนที่

ปัจจุบันป่าคอนกรีตอย่างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ 9 ตร.ม./คน ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่าคนกรุงมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 7 ตร.ม./คน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้รวมถึงสวนเล็ก ๆ หน้าปั๊มน้ำมันและเกาะกลางถนนด้วย

ตัวเลขนี้ยังไม่รวมประชากรแฝงที่มีจำนวนหลายล้านคน หากนำมาคำนวณอาจทำให้พื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนลดลงไปที่ราว ๆ 3.5 ตร.ม./คน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอสำหรับทุกคนในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ แล้วแต่ละเขตก็มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวที่มากน้อยต่างกันไป ทำให้ความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของแต่ละคนไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในช่วงหลายปีมานี้ กรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลมาจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่ช่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งการแต่งแต้มสีเขียวให้กับพื้นที่ในป่าคอนกรีตอย่างกรุงเทพหรือเมืองใหญ่อื่น ๆ อาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในแบบที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อสุขภาพของคนกรุง

หลายคนเชื่อว่าการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติส่งผลดีต่อสุขภาพได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งผลการศึกษาจำนวนมากพบว่าการสัมผัสและการอยู่ใกล้กับพื้นที่สีเขียวส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ในเชิงจิตวิทยา สีเขียวส่งผลให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดและวิตกกังวล ช่วยกระตุ้นอารมณ์ด้านบวก และทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้นด้วย เพียงแค่การเห็นพื้นที่สีเขียวจากบนตึกสูงหรือระหว่างทางไปกลับที่ทำงานบ้านและที่ทำงานอาจช่วยลดความหม่นหมองทางอารมณ์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบได้ไม่มากก็น้อย

การศึกษาในภาพรวมได้มีการเปรียบเทียบสุขภาพจิตของคนที่อาศัยอยู่ใกล้และไกลกับพื้นที่สีเขียว ซึ่งพบว่าการอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวส่งผลดีต่ออารมณ์ ความคิด และสมอง เช่น เครียดน้อยกว่า มีสมาธิและความจำที่ดี และการทำงานของ Cognitive function หรือระบบการรับรู้และประมวลผลของสมองดีกว่าด้วย และยังมีข้อมูลที่บอกว่าคนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สีเขียวเสี่ยงต่อภาวะวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนทั่วไป

การอาศัยอยู่กับพื้นที่สีเขียวอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคทางเดินหายใจหลายโรค เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอื่น ๆ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าต้นไม้มีส่วนสำคัญในการฟอกสารพิษและฝุ่นละอองในอากาศ ยิ่งเป็นเมืองที่มีคนพลุกพล่านมากเท่าไหร่ยิ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งรูปแบบของพื้นที่สีเขียว อย่างสวนสาธารณะหรือสวนหย่อมอาจส่งผลดีทางอ้อมต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้คนได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนหย่อนใจ และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

พื้นที่สีเขียวในเมืองกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมือง

นอกจากคุณภาพชีวิตในด้านของสุขภาพที่พื้นที่สีเขียวสามารถมอบให้คนเมืองได้แล้ว การมีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอยังมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านอื่นด้วย เช่น

  • พื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์และโอกาส อย่างการมีพื้นที่ให้ทุกคนได้เล่นกีฬา ทำงานอดิเรก หรือกิจกรรมอื่นเพื่อพัฒนาตัวเอง
  • พื้นที่ของการพบปะที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด มิตรภาพ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ซึ่งนำไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น
  • การลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น PM2.5 ฝุ่นควัน ให้ร่มเงา และดูดซับความร้อนจากแสงแดด

ภาพกิจกรรม ณ สวนเบญจกิติแผนที่

หากดูในภาพกว้างเราอาจจะเพียงแค่ความร่มรื่นและความสวยงามของทัศนียภาพเท่านั้น แต่ถ้าลองจินตนาการดูว่าถ้าเราสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ได้ทุกหัวมุมถนน สามารถพาคนในครอบครัวออกไปทำกิจกรรมในพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีพื้นที่ที่เราสามารถสูดลมหายใจเข้าได้อย่างไม่ต้องกังวลก็เป็นชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย

Hack for Health เลยอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของคุณเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3

ภาพปก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส