คุณรู้หรือไม่ว่า…

  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก
  • ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 5 ล้านคนต้องกลายเป็นคนพิการอย่างถาวร
  • โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของชายไทย และอันดับ 2 ของหญิงไทย และพบในคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญของคนทั่วโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี

แม้โรคหลอดเลือดสมองจะน่ากลัว แต่ 90% ของโรคนี้สามารถป้องกันได้

รู้จัก Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดเฉียบพลัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองตาย เกิดอาการทางระบบประสาท สูญเสียการทำงานของร่างกาย กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต 

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) 

เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยพบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย เกิดจากลิ่มเลือดในบริเวณอื่น เช่น หัวใจ ไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง 

ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของตะกอนไขมัน หรือหินปูน (Plaque) ในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

  1. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) 

พบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

หลายครั้งที่ร่างกายของผู้ป่วยได้แสดงสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง แต่จะมีอาการอยู่เพียง 5-10 นาทีแล้วหายไป ทำให้ตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างไม่ทันสังเกต ดังนั้น การจดจำสัญญาณหรืออาการของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เพื่อสังเกตอาการของตนและคนรอบข้างให้ได้ก่อนจะสายเกินแก้

รู้ทัน F.A.S.T ป้องกันก่อนการสูญเสีย

อาการสําคัญของโรคนี้ คือ อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ได้ กลืนลําบาก มองเห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็น เดินเซ โดยสามารถจําเป็นอักษรย่อง่าย ๆ ว่า F.A.S.T

F ย่อมาจาก FACE คืออาการหน้าเบี้ยว หรือมุมปากไม่เท่ากัน

A ย่อมาจาก ARM คืออาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ยกแขนไม่ขึ้น เดินไม่ได้

S คือ SPEECH ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ได้ หรือพูดไม่ชัด

T คือ TIME เพื่อเน้นความสําคัญของเวลา โดยเมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที

โดยที่ผ่านมามักมีความเข้าใจผิดว่า ต้องนำผู้ป่วยส่งให้ถึงโรงพยาบาลภายใน 3-4 ชั่วโมงหลังมีอาการ แต่ความจริงแล้ว ควรนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลดี 

จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายใน 90 นาทีแรกหลังเกิดอาการ จะมีโอกาสหายเป็นปกติมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาถึง 3 เท่า แต่หากผู้ป่วยได้รับยาที่เวลา 3-4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการ จะมีโอกาสหายมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาเพียง 1.2 หรือ 1.3 เท่า เท่านั้น 

แต่หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลเกินกว่า 4 ชั่วโมงหลังมีอาการ และได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองประเภทตีบหรือตันแล้ว แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น การจ่ายยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด การผ่าตัด และการกายภาพฟื้นฟู เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ (ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการฉีดยาสลายลิ่มเลือดได้ เนื่องจากถึงมือแพทย์ช้าเกินไปนั้น) ส่วนใหญ่ต้องกินยาดังกล่าวไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ และป้องกันการเสียชีวิต

ดังนั้น “เวลา” (T : time) จึงเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพราะยิ่งรักษาเร็ว จะยิ่งมีโอกาสหายมาก ผลแทรกซ้อนต่ำ และความพิการน้อยลง

ระลึกไว้เสมอว่า “ป้องกันดีกว่าการรักษา”

เนื่องจากการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิด ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถทำได้โดยการควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้คือคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขครับ

“โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิต การป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและตรวจสุขภาพเป็นประจำ”