ปกติแมงมุม หรือสัตว์มีพิษต่าง ๆ ดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตรายกับมนุษย์ แต่ในหลายครั้งที่ความกระหายใครรู้ของมนุษย์ ประกอบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนขั้วของพิษร้ายที่อันตรายถึงชีวิตให้กลายมาเป็นยารักษาโรค ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ค้นพบว่าพิษจากของแมงมุมใยกรวยแห่งเกาะเกอริ (K’gari funnel-web spider) ประเทศออสเตรเลียมีคุณสมบัติในการรักษาโรคหัวใจ

จากการศึกษาก่อนหน้า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารเคมี Hi1a ในพิษของแมงมุมใยกรวยชนิดนี้ว่ามีฤทธิ์ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากอาการหัวใจวาย รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในการศึกษาครั้งใหม่ที่ทดสอบในเซลล์ทดลอง และสัตว์ทดลองก็พบว่า Hi1a มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคหัวใจได้เทียบเท่ากับยารักษาโรคหัวใจอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากทำให้เกิดผลข้างเคียงในมนุษย์

แมงมุมใยกรวยแห่งเกาะเกอริ – The University of Queensland

จากการทดสอบในเซลล์ทดลอง สารจากพิษของแมงมุมชนิดนี้ออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณที่หัวใจเสียหายจากโรคหัวใจ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่ไม่ได้รับความเสียหาย รวมถึงช่วยลดความเสียหาย และอัตราการตายของเซลล์หัวใจ และสมองจากการขาดออกซิเจน ที่เป็นผลจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อาจเป็นไปได้ว่าจะช่วยภาวะแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

ปัจจุบันการศึกษาในการใช้สาร Hi1a จากพิษของแมงมมุมใยกรวยแห่งเกาะเกอริในการรักษาโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองยังคงอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ และเปลี่ยนผ่านไปสู่การทดสอบในมนุษย์ ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไก ประโยชน์ และผลกระทบของสารชนิดนี้ในมนุษย์อย่างถ่องแท้ ก่อนจะนำมาผลิตเป็นยา

หากยาจากพิษของแมงมุมชนิดนี้สำเร็จ จะเป็นยารักษาโรคหัวใจจากแมงมุมชนิดแรกของโลก โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีคนป่วยเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก การค้นพบครั้งนี้จึงอาจช่วยเพิ่มตัวเลือกในการรักษาโรคหัวใจที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเหล่านี้ได้ 

ที่มา: Sciencedaily