หลาย ๆ คนอาจพบว่าการพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะคนใกล้ชิดนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไร หากพูดไปแล้วจะกระทบกระเทือนจิตใจหรือเปล่า ดังนั้น มาดู DO’S & DON’T เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้ากัน

เรื่องที่ ‘ควรทำ‘ เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า

1. เปิดใจรับฟังด้วยความตั้งใจ มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง ที่สำคัญคือห้ามกดดัน หรือตัดสินเด็ดขาด! 

2. ใช้คำพูดให้กำลังใจเชิงบวก แสดงความเข้าใจ ไม่ทอดทิ้ง เช่น มีปัญหาอะไรมาระบายได้ตลอดเลยนะ หรือ พร้อมซัพพอร์ตเสมอ 

3. ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสารเอ็นโดรฟินบ้าง เช่น เปิดเพลงเต้น ร้องเพลง ไปคาราโอเกะ ฟังเพลงที่มีทำนองสนุกสนานชวนขยับร่างกาย หรือจะเป็นการออกกำลังกายในแบบต่าง ๆ เป็นการให้กำลังใจในรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องใช้คำพูด

4. พยายามพูดคุยกับผู้ป่วยเหมือนกับเป็นปกติ เพียงแต่ว่าอย่าพูดเรื่องในแง่ลบ หรืออย่ากดดันผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระมากพออยู่แล้ว เช่น ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ชวนกินข้าว ชวนไปเที่ยว เป็นต้น 

เรื่องที่ ‘ไม่ควรทำ’ เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า

  1. คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดเลย เช่น อย่าคิดมาก, ต้องพยายามให้มากขึ้นอีก, อย่าร้องไห้, อย่าอ่อนแอ, คนอื่นที่แย่กว่าเรายังมี หรือสู้ ๆ นะ เพราะคำพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตนเองยังดีไม่พอ รู้สึกหมดคุณค่ามากขึ้นเข้าไปอีก 
  2. คิดว่าโรคซึมเศร้าไม่มีจริง เป็นเพียงแค่การเรียกร้องความสนใจ กล่าวโทษว่าผู้ป่วย “คิดมากไปเอง” การแสดงออกเช่นนี้ยิ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยแบกรับความคิดมากขึ้นเข้าไปอีก

ตามหลักทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่มีอยู่จริง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง “เซโรโทนิน (Serotonin)” มีปริมาณลดลง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญหน้าอยู่ หาทางให้กำลังใจและซัพพอร์ตการรักษา จัดเป็นการแสดงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ดีที่สุดแล้ว

แม้ว่าเรื่องที่ควรทำ และไม่ควรทำเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าในแต่ละข้ออาจดูขัดต่อหลักเหตุผล และความเป็นจริง แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการ ความคิด และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากโรคที่ส่งผลต่อใช้เหตุผล

บางครั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากโรคมักถาโถม และรุนแรงจนหลักความคิด สติ และเหตุผลไม่สามารถหักล้าง หรือควบคุมอารมณ์ได้ นอกจากนี้ หลายครั้งที่การดูแล และรับมือกับอาการซึมเศร้าของคนใกล้ตัวอาจส่งผลต่อคนที่ดูแล ดังนั้น อย่าละเลยการดูแลสุขภาพจิตใจ สังเกตอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเองด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ