“โกโก้” อุดมด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenol) สารอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ลดการอักเสบ ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และลดระดับน้ำตาลในเลือด และมีสารต่อต้านโรคหืด ช่วยให้ปอดขยายออก ทำให้หายใจผ่อนคลาย และลดการอักเสบ

การศึกษาส่วนประกอบของโกโก้ พบว่า ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)ในโกโก้ ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ต่อสู้กับการอักเสบ ยับยั้งการเติบโตของเซลล์ ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และมีการศึกษาวิจัยพบว่า โกโก้มีสารที่ช่วยในเรื่องการทำงานของสมองอีกด้วย

แต่ก่อนจะไปดูว่าดื่มอย่างไรให้ถูกวิธีและช่วยบำรุงสมองได้ ตอนนี้คุณสามารถแยกความแตกต่างระหว่าง “โกโก้” กับ “ช็อกโกแลต” ได้หรือไม่ ?

เลือกให้ถูก เพราะ “โกโก้” ไม่ใช่ “ช็อกโกแลต”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “โกโก้” และ “ช็อกโกแลต” มีประโยชน์กับร่างกาย แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า “โกโก้” และ “ช็อกโกแลต” แตกต่างกันหรือไม่ ?

ทั้ง “โกโก้” และ “ช็อกโกแลต” นั้น ต่างก็เป็นผลผลิตจากต้นโกโก้ หรือต้นคาเคา (Theobroma Cacao) โดยการนำเมล็ดโกโก้มาผ่านกระบวนการหมัก ตากแห้ง คั่ว ปอกเปลือก บด และแปรรูปเป็นของเหลว (Cocoa Liquor)

จากนั้นนำโกโก้เหลวไปผ่านกระบวนการรีดเอาไขมันโกโก้ (Cocoa butter) ออกจากเนื้อโกโก้ (Cocoa cake) แล้วเอาเนื้อโกโก้ที่เหลือไปบดละเอียด เป็นผงโกโก้ธรรมชาติที่มีไขมันอยู่เพียง 10-24 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โกโก้จึงถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีไขมันผสมอยู่เลย หรือมีไขมันผสมอยู่น้อยมาก

สำหรับช็อกโกแลต เป็นการนำโกโก้เหลวไปขึ้นรูปหรือเทใส่แม่พิมพ์โดยไม่แยกไขมัน จึงยังคงมีไขมันโกโก้ในปริมาณมาก กลายเป็น “ดาร์กช็อกโกแลต 100 เปอร์เซ็นต์” มีรสขม ส่วนใหญ่จึงมีการเติมนมและน้ำตาลได้เป็นช็อกโกแลตนม เพื่อให้ได้รสชาติหอมหวานและรับประทานง่ายขึ้น

ดื่มโกโก้ร้อนทุกเช้า ช่วยให้ความจำดีแม้สูงวัย

“ในโกโก้ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กว่า 700 ชนิด และมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่ทำให้เซลล์สมองทำงานดีขึ้น”

ศ. นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้ดื่มโกโก้ร้อนเพื่อบำรุงสมอง ระบุงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเรดิง (University of Reading) ในประเทศอังกฤษที่ว่า การดื่มโกโก้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 1,000 มิลลิกรัม วันละครั้งทุกวัน จะช่วยบำรุงสมอง

จากการที่ นพ.นิพนธ์ ได้ทดลองด้วยตนเองเป็นเวลา 2 เดือน พบว่า สมองของตนทำงานดีขึ้น สดชื่นขึ้น เพราะในโกโก้มีสารฟลาโวนอยด์ ที่ทำให้เซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้สมองหลั่งที่มีประโยชน์ ทั้งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) สารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข รวมทั้งสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า โดยสมองต้องใช้สารทั้งสามในการทำงาน หากขาดสารดังกล่าว ก็จะทำให้สมองเฉื่อยและทำงานช้าลง 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้ผลสนับสนุนงานวิจัยข้างต้น ระบุว่า โพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่อยู่ในโกโก้ สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

นอกจากนี้ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ยังมีผลต่อการผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide: NO) ซึ่งช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น โดยจากการศึกษาผู้สูงอายุ 34 คน ให้ดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอยด์สูง พบว่า มีการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ หลังจากดื่มไป 1 สัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์หลังจากดื่มไปแล้ว 2 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม นพ.นิพนธ์ ได้ย้ำว่า แม้โกโก้จะมีประโยชน์แต่ไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ เพียงแต่ชะลอให้เกิดโรคช้าลงเท่านั้น

ทางด้าน ผศ. ดร.สุดาทิพย์ แซ่ตั้น อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า โกโก้มีสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดความเครียด แต่โกโก้มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก หากต้องการได้รับประโยชน์จากโกโก้โดยตรง ควรชงดื่มกับน้ำเปล่า เพราะหากใส่นมจะทำให้ได้ประโยชน์จากโกโก้ลดลง เนื่องจากนมจะไปจับกับสารสำคัญของโกโก้ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้

เคล็ดลับการดื่มโกโก้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

  • ใช้ผงโกโก้ 2 ช้อนโต๊ะ โรยหน้าขนมหรือชงเป็นเครื่องดื่ม โดยผสมกับน้ำร้อน ดื่มทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง
  • ควรเลือกใช้ผงโกโก้ที่เป็นโกโก้แท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ควรใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เช่น นมหรือน้ำตาล
  • ในช่วงเริ่มแรก หากยังไม่คุ้นเคยกับรสขมของโกโก้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจใช้วิธีชงดื่มกับนมพร่องมันเนยก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเป็นผสมกับน้ำร้อนในภายหลัง

ข้อควรระวังในการดื่มโกโก้

  • การดื่มโกโก้แบบเพิ่มนมและน้ำตาล จะทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  • โกโก้มีสารธีโอโบรมีน (Theobromine) สูง มีฤทธิ์คล้ายคาเฟอีนอ่อน ๆ หากดื่มเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ใจสั่นและนอนไม่หลับได้

ดร.นิพนธ์ ได้ทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า นอกจากการดื่มโกโก้ทุกวันเพื่อบำรุงสมองแล้ว การออกกำลังกาย การรักษาโรคประจำตัว การกินอาหารให้ครบหมู่ถูกสัดส่วน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่านอนดึก

“ความจำของคนเราผูกพันกับการนอน เมื่อไรก็ตามที่เรานอนไม่ดีหรืออดนอน เมื่อนั้น ความจำเราจะหายไป”

เพราะการใช้ชีวิตอย่างสมดุล มีค่ากว่ายาใด ๆ ด้วยความห่วงใยจาก Hack for Health