คุณเริ่มขี้ลืมแล้วหรือเปล่า ?

คนในครอบครัวคุณเคยเผลอหลงลืมเอาของสำคัญ เช่น กุญแจรถ โทรศัพท์มือถือ ไว้ในตู้เย็นหรือไม่ ?

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ไปเมื่อปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุภายในประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ และหนึ่งในนั้น คือ “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด และพบได้ทั่วโลกเลยทีเดียว 

แต่รู้หรือไม่ว่า หากเรารู้จักสังเกต “สัญญาณเตือน” ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมทั้งของตนเอง หรือบุคคลในครอบครัวได้ตั้งแต่มีอาการระยะเริ่มแรก การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด อาจช่วยแก้ไขสาเหตุหรือชะลอการดำเนินโรคของภาวะสมองเสื่อมได้

มารู้จักกับ “ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย” หรือ MCI (Mild Cognitive Impairment) ที่เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไปกันครับ

สมองแค่บกพร่อง แต่ยังไม่ถึงขั้นเสื่อม

ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอ็มซีไอ (MCI) เป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณเริ่มต้นที่อยู่ระหว่างภาวะความสามารถของสมองถดถอยปกติตามวัย (Normal Aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) 

กล่าวคือ MCI จะเริ่มมีปัญหาของการรู้คิดที่มากกว่าคนในช่วงวัยเดียวกัน แต่ยังไม่ถึงกับกระทบการใช้ชีวิตประจำวันหรือการเข้าสังคมเหมือนผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นความเสี่ยงหนึ่งในการเป็นสมองเสื่อมในอนาคตได้

ภาวะนี้ พบได้ประมาณ 16-20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยภาวะ MCI ที่อาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน

สัญญาณเตือนของผู้ที่มีภาวะ MCI นั้น จะมีการทำงานของสมองที่บกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน ดังนี้

  1. ปัญหาด้านการใส่ใจ ตั้งใจ: มีสมาธิจดจ่อน้อยลง ส่งผลให้เผลอลืมกิจกรรมที่ต้องการจะทำ หรือกำลังทำอยู่ เช่น ต้มน้ำเอาไว้บนเตาแล้วลืม วางกุญแจไว้แล้วหาไม่เจอ เป็นต้น
  2. ปัญหาในการวางแผนและตัดสินใจ: ความไวในการใช้ความคิดลดลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึง การคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น เป็นต้น 
  3. ปัญหาด้านความจำระยะสั้น: ความจำแย่ลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น เมื่อมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน วันต่อมาจำไม่ได้ว่ามีคนมาเยี่ยม หรือมีการพูดคุยกับใคร เรื่องอะไร เป็นต้น
  4. ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังไม่เข้าใจ เป็นต้น
  5. ปัญหาด้านการรับรู้และใช้งานสิ่งรอบตัว: สูญเสียการจดจำทิศทาง ทำให้หลงทาง หรือสูญเสียทักษะในการทำงาน เช่น ไม่สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เคยใช้ได้ เป็นต้น
  6. ปัญหาการรู้คิดด้านสังคม: มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมาในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง หรือมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น

โดยสัญญาณเตือนของภาวะ MCI เหล่านี้ ในช่วงแรก อาจดูไม่แตกต่างจากอาการที่พบในผู้สูงอายุปกติทั่วไป แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะสังเกตได้ว่า หากเป็นผู้สูงอายุปกติ อาการดังกล่าวจะยังค่อนข้างคงที่ ส่วนผู้ที่มีภาวะ MCI อาการอาจแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ MCI ยังคงมีสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมนั้น อาการต่าง ๆ จะรุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน จนผู้ป่วยอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งการวินิจฉัยภาวะ MCI และภาวะสมองเสื่อมนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางการแพทย์ 

ประกอบไปด้วยการเจาะเลือดตรวจ เช่น ตรวจการทำงานของไต ตับ ตรวจการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจระดับวิตามินบางชนิด และอาจตรวจดูภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การตรวจสมองด้วยซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) และใช้การทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกโดยผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย

ตรวจได้ก่อน ป้องกันสมองเสื่อม

หากรู้ทันและรักษาก่อน จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ถึง 14 – 55 เปอร์เซ็นต์”

หลังจากการประเมินของแพทย์ หากมีภาวะ MCI จริง จะให้การดูแล ดังนี้

  1. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ที่อาจส่งผลให้การทำงานของสมองถดถอยลง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง รวมถึงการงดสูบบุหรี่
  2. รักษาอาการซึมเศร้า หากประเมินว่ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
  3. เลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อความจำ
  4. แก้ไขปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน และการอุดกลั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เพราะอาจมีผลต่อการรู้คิด

แนวทางการรักษาผู้ที่มีภาวะ MCI ที่สำคัญที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย มีข้อมูลว่า การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้อาการดีขึ้น และช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคตได้

โดยแนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกายให้เหมาะสมกับช่วงอายุและสภาพร่างกาย เช่น เดิน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิคเบา ๆ ครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้มีการฝึกใช้สมองเรื่อย ๆ เช่น หางานอดิเรกทำ เล่นเกมส์ฝึกสมอง หรือเข้าสังคม เป็นต้น

การป้องกันและดูแล MCI ก่อนสมองเสื่อม

วิธีการในการป้องกัน หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ MCI ที่อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ การเข้าสังคมในผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ในด้านโภชนาการ

เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง จึงทำให้เกิดการขาดสารอาหารซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดภาวะ MCI ดังนั้น การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดภาวะ MCI ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่พบว่า การบริโภคอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีน้ำมันมะกอก พืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และปลา เป็นส่วนประกอบ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MCI ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการวิจัยคิดค้นอาหารทางการแพทย์ ที่มีกลุ่มสารอาหารซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของจุดเชื่อมต่อประสาท และการวิจัยเกี่ยวกับยาต่าง ๆ ที่อาจนำมาใช้ในการรักษาอาการในภาวะ MCI ได้

เพราะ “สมอง” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น เราจึงควรดูแลและให้ความสำคัญ เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้อยู่ได้นานที่สุด