ชนชั้นทางสังคมเป็นเกณฑ์การแบ่งชนชั้นของคนในสังคม ถ้าจะให้แบ่งคร่าว ๆ ก็คงเป็นสูง กลาง และต่ำ แต่ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นความแตกต่างทางชนชั้นที่ยิบย่อยมากไปกว่านั้น และแม้คำว่าปีนบันไดชนชั้นทางสังคมจะให้ความรู้สึกมักใหญ่ใฝ่สูง และทะเยอทะยาน แต่มนุษย์แทบทั่วทั้งโลกกำลังทำสิ่งนี้อยู่เพื่อเงินที่ดีขึ้น เพื่อสังคมรอบตัวที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งของตัวเอง และคนใกล้ตัว

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่นพบว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ที่ลดลง

ภาวะสมองเสื่อม คือภาวะเสื่อมถอยของสมอง ที่ส่งผลต่อกระบวนการคิด การใช้เหตุผล ความจำ พฤติกรรม และอารมณ์ ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน และคนรอบตัวได้

ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาประเมินด้านพฤฒาวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Gerontological Evaluation Study) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้สูงอายุจำนวน 9,186 คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ปัญหาสุขภาพ และปัจจัยทางสังคม ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2016 ซึ่งก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ

สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสัมพันธ์กับสุขภาพของผู้สูงอายุ อย่างสถานะที่ดีขึ้นลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม และสุขภาพที่ดีมากขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นกลุ่มที่สูญเสียสุขภาพที่ดี และอายุที่ยืนยาวไปมากที่สุดในช่วงหลังจากอายุ 75 ปี โดยคนที่มาจากสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในวัยเด็กได้รับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นในวัยชรา สูงกว่ากลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้วด้วย

นอกจากนี้ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ปัญหาสุขภาพ และปัจจัยทางสังคมก็สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสัมพันธ์ รวมถึงความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้เป็นผลวิเคราะห์จากการสำรวจ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ยืนยันเกี่ยวกับข้อมูลนี้ โดยผู้นำการศึกษา เรียวโตะ ซากานิวะ (Ryoto Sakaniwa) บอกว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูกลไกของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่อสุขภาพสมองในระดับที่ลึกลงไป ซึ่งอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจในการลดผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อม และปัญหาด้านชนชั้นได้