Ergonomic mouse (เออร์โกโนมิกเมาส์) หรือเมาส์แนวตั้ง (Vertical mouse) เป็นแกดเจ็ตที่หลายคนต้องเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงออฟฟิศซินโดรมในวงกว้างมากขึ้น ผู้คนเลยสรรหาสารพัดแกดเจ็ตที่น่าจะพอป้องกันออฟฟิศซินโดรมมาใช้กัน ซึ่ง Ergonomic mouse เป็นหนึ่งในนั้น

Ergonomic mouse เป็นเมาส์ที่ถูกออกแบบตามสรีระตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) หรือศาสตร์ในออกแบบสิ่งของต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการทำงานและสภาพแวดล้อมเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพและดีต่อสุขภาพของคนทำงาน หน้าตา ปุ่ม และวิธีใช้งาน Ergonomic mouse จึงค่อนข้างต่างจากเมาส์แบบมาตรฐานที่คนคุ้นเคยกัน

ในบทความนี้ Hack for Health จะมาแนะนำข้อดีและข้อจำกัดของ Ergonomic mouse

ทำไมต้อง “Ergonomic” mouse?

คอนเซ็ปต์เรื่องหลักการยศาสตร์และสรีรศาสตร์ในการออกแบบอาจเรียกได้ว่าถูกคิดมาเพื่อแก้ไขอาการจากออฟฟิศซินโดรมโดยเฉพาะ เพราะอาการส่วนใหญ่จากออฟฟิศซินโดรม เช่น การปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความเหนื่อยล้า ปวดหัว ปวดตา และอื่น ๆ เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน 1) การที่คนเราทำงาน/ใช้ชีวิตด้วย “ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง” ตามหลักสรีรศาสตร์ 2) การใช้งานกล้ามเนื้อไม่ว่าจะในท่าทางที่ถูกหรือผิดเป็นเวลานานเกินไป

หากยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ หากคุณเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ต้องใช้ข้อมือขยับเมาส์หรือใช้ปากกาวาดภาพตลอดทั้งวันอาจทำให้กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ตั้งแต่บริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือหดตัว ยืดตัว และเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เกิดการอักเสบและตึงของกล้ามเนื้อ เกิดการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นกับกระดูก เกิดพังผืด เกิดการบาดเจ็บจนเกิดอาการปวดข้อมือ ฝ่ามือ หรือนิ้วล็อกตามมา

ซึ่งกลไกนี้สามารถนำไปใช้กับการเกิดอาการปวดอื่น ๆ อย่างปวดคอ ปวดหลัง และอาการปวดอื่น ๆ ที่เกิดจากการทำงานได้ด้วย หลักการยศาสตร์จึงเป็นการออกแบบที่ช่วยลดปัจจัยด้านท่าทางของออฟฟิศซินโดรมได้ อย่าง Ergonomic mouse จะช่วยให้องศาและตำแหน่งการวางนิ้วเหมาะสมกับสรีระตามธรรมชาติของร่างกายมากขึ้น

ประโยชน์ของ Ergonomic mouse

การใช้ Ergonomic mouse อาจส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้

ลดอาการปวดเมื่อยข้อมือ

อย่างที่บอกไปว่า Ergonomic mouse จะช่วยให้ลักษณะของมือในขณะใช้เมาส์เพื่อทำงานเป็นเวลานานตรงตามธรรมชาติของร่างกายมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญพบว่าธรรมชาติของมือคนเราอยู่ในลักษณะคล้ายกับการเชกแฮนด์ (Hand shake)

เมื่อสรีระของเราตรงตามธรรมชาติจะช่วยให้รู้สึกสบายข้อมือหรือนิ้วมากขึ้น สามารถใช้งานหรือเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เมื่อย และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อส่วนนั้นน้อยลง

ลดความเสี่ยงกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

การใช้เมาส์ชนิดนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ที่ทำให้เกิดอาการเหน็บ ชา หรืออ่อนแรงบริเวณข้อมือ ซึ่งการศึกษาพบว่าคนที่ทำงานกราฟิกดีไซน์เสี่ยงต่อกลุ่มอาการนี้มากกว่าคนสายอาชีพอื่น

ลดการใช้กล้ามเนื้อส่วนที่ไม่จำเป็น

การใช้เมาส์ทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์โดยเน้นการใช้งานมากกว่า ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนถูกใช้งานและเกิดการกดทับของกล้ามเนื้อส่วนนั้นโดยไม่จำเป็นและเพิ่มโอกาสที่กล้ามเนื้อจะถูกใช้งานและเกิดอาการปวดตามมา

ข้อจำกัดของการใช้ Ergonomic mouse

นอกจากประโยชน์แล้ว Ergonomic mouse ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่คุณควรรู้ก่อนซื้อมาใช้

  • ราคาค่อนข้างสูงกว่าเมาส์แบบมาตรฐานและมีตัวเลือกน้อยกว่า
  • ไม่สะดวกหรือไม่ถนัดต่อการใช้งานในช่วงแรก
  • กราฟิกดีไซเนอร์หรือเกมเมอร์ที่ต้องการความแม่นยำในการชี้เมาส์อาจรู้สึกว่าใช้งานยากและไม่ตอบโจทย์ เพราะการศึกษาบางชิ้นพบว่าใช้งานยากกว่าเมาส์แบบมาตรฐาน 
  • ช่วยลดความเสี่ยงของอาการออฟฟิศซินโดรมบริเวณข้อมือได้ แต่ไม่ทั้งหมด ต้องอาศัยการปรับท่าทางและปรับเวลาในการใช้งานร่วมด้วย
  • ช่วยลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ แต่ไม่ได้ช่วยบรรเทาในคนที่มีอาการไปแล้ว

สำหรับใครที่มีงบสามารถไปสอย Ergonomic mouse มาลองใช้ดูได้ ยิ่งคนที่ต้องใช้เมาส์เป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกราฟิกดีไซเนอร์ แม้ในช่วงแรกจะใช้งานลำบาก แต่อาจส่งผลดีในระยะยาว

ส่วนวิธีเลือก Ergonomic mouse ขึ้นอยู่กับความชอบและการใช้งานของแต่ละคน เช่น ชนิดของวัสดุ ปุ่มเสริม (Forward/Backward) ปุ่มปรับความเร็วเมาส์หรือ DPI และด้วยราคาที่สูงกว่าเมาส์แบบมาตรฐานอาจจะลองเลือกร้านหรือยี่ห้อที่มีการรับประกันการใช้งาน

ส่วนใครที่ต้องการเน้นการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมโดยเฉพาะ นอกจากการใช้ Ergonomic mouse และแกดเจ็ตอื่นที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์แล้ว ควรปรับท่าทางในการนั่งและหมั่นพักระหว่างการทำงานทุก 30–60 นาที

ที่มา: Logitech, NCBI1, NCBI2 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส