ในวันที่ฝนตกอาจทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบาย หายใจไม่ค่อยออก รวมถึงอาการโรคประจำตัวต่าง ๆ ก็กำเริบได้ง่าย เพราะสภาพอากาศสามารถส่งผลต่อสภาวะสุขภาพหลายอย่าง เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หรือแม้แต่ปวดศีรษะ Hack for Health จึงรวบรวมโรคที่มักอาการกำเริบได้ง่ายในช่วงฤดูฝนมาฝาก เพื่อให้ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้ได้เตรียมตัวรับมือให้พร้อม

สภาวะสุขภาพที่มักอาการแย่ลงในช่วงฤดูฝน

1.โรคหอบหืด

หากละอองเกสรเป็นสาเหตุหลักของโรคหอบหืด การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าพายุฝนฟ้าคะนองอาจเชื่อมโยงกับอาการของโรคหอบหืดที่กำเริบขึ้นได้

ทฤษฎี คือ ลมแรงของพายุฝนฟ้าคะนองพัดพาละอองเรณูไปที่ระดับพื้นดิน ซึ่งจะเข้าสู่ส่วนล่างของทางเดินหายใจ ที่อาจนำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก หายใจถี่ และมีเสียงดังหรือหายใจเร็ว

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความชื้นอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้เช่นกัน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เกิดความอึดอัด และระคายเคืองต่อทางเดินหายใจส่วนล่างและส่วนบนนั่นเอง

2.โรคภูมิแพ้

ฝนอาจส่งผลต่อการแพ้ได้เช่นกัน ในทางบวกในตอนแรกเมื่อฝนตกลงมา จะดึงละอองเกสรดอกไม้ออกจากอากาศ ทำให้ปริมาณละอองเกสรดอกไม้ที่ลอยอยู่ภายนอกลดลง แต่ถ้ามีแดดออกหลังจากฝนตกสัก 2-3 วัน พืชจะเริ่มเติบโตและปล่อยละอองเรณู ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจทำให้มีภูมิแพ้หนักขึ้น เช่น จาม คัดจมูก และแม้กระทั่งหายใจลำบากเนื่องจากคัดจมูกอย่างรุนแรง หากคุณเป็นเช่นนี้ ยาแก้แพ้ที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์สามารถช่วยลดอาการของคุณได้ 

จากนั้นคุณอาจมีอาการคล้ายภูมิแพ้ ซึ่งก็คือโรคจมูกอักเสบที่ไม่ใช่ภูมิแพ้ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นอย่างกะทันหัน คุณหมออาจแนะนำให้ล้างจมูกเป็นประจำ ซึ่งเป็นการพ่นน้ำเกลือในจมูกหรือการใช้สเตียรอยด์พ่นจมูกจะสามารถช่วยลดอาการบวมของโพรงจมูกได้

นอกจากนี้ เชื้อรายังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีหลังฝนตก ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณหากคุณมีอาการแพ้เชื้อรา รา เป็นเชื้อราปรสิตขนาดเล็กซึ่งปล่อยสปอร์สู่อากาศเช่นเดียวกับละอองเกสรดอกไม้ โดยเชื้อราพบในบริเวณที่อับชื้น เช่น ห้องใต้ดินหรือห้องน้ำ รวมถึงกลางแจ้งในหญ้า กองใบไม้ หรือใต้เห็ด สปอร์ของเชื้อราจะขึ้นสูงสุดในช่วงอากาศร้อนชื้น

3.โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

ฤดูฝนเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการแพ้ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีระดับมลพิษสูงมาก อาการแพ้เหล่านี้มักปรากฏที่ มือ หลังส่วนบน เท้า และบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย อาการแพ้ดังกล่าวที่เกิดจากฝนนั้นควบคุมและแก้ไขได้ดีที่สุดด้วยการใช้ยาแก้แพ้

ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า สารเคมีที่เรียกว่าฮีสตามีนจะถูกผลิตขึ้นเมื่อร่างกายของคุณสัมผัสโดยตรงกับสารกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น หญ้าหนวดแมว สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เกสรดอกไม้ หรือไรฝุ่น ยาแก้แพ้มีประโยชน์ในการลดหรือสกัดกั้นฮีสตามีน และช่วยป้องกันอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากฝนเช่นกัน

4.ไมเกรน

หากคุณมีอาการไมเกรน คุณอาจรู้สึกปวดศีรษะเมื่อพายุเข้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสามารถส่งผลต่ออาการปวดหัวได้ โดยต้นเหตุอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุดที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ได้แก่ ความชื้นสูงหรือต่ำ อุณหภูมิสูงหรือต่ำ การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นักวิจัยบางคนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลต่อความดันในสมองหรือวิธีที่สมองปิดกั้นความเจ็บปวด 

หากคุณมีอาการไมเกรนและสงสัยว่าสภาพอากาศเป็นสาเหตุ ให้ติดตามว่าอาการไมเกรนเกิดขึ้นเมื่อใดและสภาพอากาศในวันนั้น ๆ เป็นแบบใด หลังจากเวลาผ่านไปคุณจะสามารถระบุได้ดีขึ้นว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศหรืออย่างอื่นกันแน่  จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการไมเกรนของคุณ พร้อมทั้งหาทางเลือกต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงอาการปวดไมเกรนได้

นอกจากนี้ หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นลมง่ายขึ้นเมื่อฝนตก นั่นไม่ใช่จินตนาการของคุณเพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ แต่สิ่งสำคัญที่คุณจะทำได้เพื่อการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองนั่นคือ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

ที่มา clevelandclinic , pharmeasy.in

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส