ท้องเสียหรือท้องร่วง คือ อาการรู้สึกปวดท้องขับถ่ายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอุจจาระที่ออกมามักจะลักษณะเหลวหรือเป็นน้ำ และถ่ายติดต่อกันหลายครั้ง อาการมักดีขึ้นและหายภายในไม่กี่วัน โดยอาจเกิดแค่อาการถ่ายเหลวเพียงอย่างเดียวหรือจะมีอาการอื่น ๆ อย่างปวดหัว เวียนหัว เป็นไข้ร่วมด้วยก็ได้

อาการท้องเสียเป็นการเจ็บป่วยที่คนไทยพบเจอได้ตลอดทั้งปี แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนอาจไม่รู้จักกับอาการนี้ดีพอ Hack for Health เลยขออาสาพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้น

สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการท้องเสีย

อาการหลักคืออาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดท้องเฉียบพลัน ในทางการแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นอาการท้องเสียเมื่อมีการถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 วัน บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ปวดท้อง ท้องอืด 
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เป็นไข้ อ่อนเพลีย
  • อุจจาระมีเลือดปนหรือมีมูกใส

โดยปกติมักหายเองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าท้องเสียติดกันเกิน 2 วันโดยอาการไม่ดีขึ้น เป็นไข้สูง ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย เป็นตะคริว บ้านหมุน หรือมีขับถ่ายออกมาเป็น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

การปล่อยอาการท้องเสียที่เรื้อรังหรือรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะแร่ธาตุไม่สมดุล ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว

กลไกและสาเหตุของอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียเป็นผลจากการที่ลำไส้เคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติทำให้อาหารที่เพิ่งกินหรือเพิ่งย่อยไปถูกนำไปขับถ่ายออกเร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายรับมือกับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมภายในลำไส้เพื่อขับสิ่งเหล่านั้นออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด

ส่วนสาเหตุที่เป็นน้ำเพราะว่าปกติแล้วกว่าอุจจาระจะถูกขับออกมาจะต้องใช้เวลาในการสะสมของมวลกากใยอาหารที่ผ่านการย่อยมาแล้วจนจับตัวเป็นก้อนและค่อยถูกขับออกมา แต่ในกรณีที่ลำไส้เคลื่อนตัวเร็วหรือเกิดอาการท้องเสีย น้ำหรือของเหลวสามารถเคลื่อนออกไปได้ง่ายกว่าและขับได้ง่ายจึงออกมาก่อนเสมอ โดยอาการท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

การติดเชื้อ

การได้รับเชื้อโรค ทั้งจากเชื้อภายนอกหรือเชื้อภายในร่างกายที่มีจำนวนมากผิดปกติอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยเชื้อโรคจะสร้างสารที่เป็นพิษต่อร่างกายและเกิดอาการขึ้น

  • เชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส (Noro virus) และโรตาไวรัส (Rota virus)
  • เชื้อแบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli: E. coli) และคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile: C. difficile)
  • เชื้อปรสิตไกอาเดียแลมเบลีย (Giardia Lamblia

เชื้อเหล่านี้อาจพบได้ตั้งแต่ในอาหารที่ไม่สะอาด อาหารเน่าเสีย อาหารที่ไม่ปรุงสุก น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และการหยิบอาหารโดยไม่ได้ล้างมือ

ภาวะไม่ทนทานต่อแลกโตส (Lactose intolerance)

ชื่อนี้มีชื่อเล่นว่า “อาการแพ้แลกโตส” ซึ่งจริง ๆ อาจผิดความหมายไปหน่อย เพราะถ้าหากแพ้จะเกิดอาการรุนแรง แต่ในคนที่มีภาวะไม่ทนทานต่อแลกโตส คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมน้ำตาลแลกโตสได้ ร่างกายจึงต้องขับออกแทน อาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกนม โยเกิร์ตชีส หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำจากนมวัวหรือนมจากสัตว์ นอกจากจะท้องเสียแล้ว บางคนอาจท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยด้วย

ผลข้างเคียงจากยา

การใช้ยาบางชนิดส่งผลให้จุลินทรีย์มีประโยชน์ภายในร่างกายลดลง ส่งผลให้ลำไส้เสียสมดุลและทำให้เชื้อบางชนิดมีจำนวนมากขึ้นจนเกิดการติดเชื้อได้ อย่างการติดเชื้อคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล์ในข้อที่แล้วมักทำให้เกิดอาการท้องเสียขึ้นหลังจากการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค นอกจากนี้ ยารักษามะเร็งและยาลดกรดบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน

โรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง

คนที่มีโรคระบบทางเดินอาหารมักมีการย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายที่ต่างไปจากคนที่ไม่มีโรคเหล่านี้ ซึ่งหากมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบเหล่านี้เป็นเวลานานหรือเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดจากกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น (Chron’s disease) และอื่น ๆ

ปัจจัยอื่น

  • การกินน้ำผึ้งและผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทส บางคนมีปัญหาในการย่อยน้ำตาลชนิดนี้คล้ายกับภาวะไม่ทนทานต่อแลกโตส
  • การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ข้อมูลบางส่วนพบว่าบางคนไวต่อสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกลุ่มที่ให้พลังงาน อย่างซอร์บิทอล อิริทริทอล และแมนนิทอล
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะ

วิธีรับมือ รักษา และป้องกันอาการท้องเสีย

โดยปกติแล้วร่างกายสามารถรักษาตัวเองจากอาการท้องเสียได้ภายในไม่กี่วัน วิธีรับมือต่อไปนี้อาจช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและหายได้เร็วขึ้น

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากการขับถ่ายหรืออาเจียน
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟู
  • กินอาหารอ่อน รสไม่จัด ย่อยง่าย อย่างพวกโจ๊ก ข้าวต้ม หรือแกงจืด เพราะใช้ว่าย่อยน้อย ร่างกายจึงดูดซึมสารอาหารช่วยให้ฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น
  • งดอาหารรสจัด ของมัน ของทอด ของหวาน น้ำอัดลม โซดา กาแฟ ชา นม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารไฟเบอร์สูง อย่างผักหรือผลไม้
  • ห้ามดื่มเกลือแร่ออกกำลังกาย ให้ใช้เกลือแร่ ORS เท่านั้น เพราะเกลือแร่ออกกำลังกายน้ำตาลสูงอาจทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิม
  • ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ เพราะการใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลเสียได้มากกว่าผลดี เช่น ยาหยุดถ่ายอาจทำให้เชื้อโรคหรือสารพิษสะสมในร่างกาย หรือยาคาร์บอนอาจดูดซึมสารพิษไว้ทำให้เกิดพิษในร่างกายได้มากกว่า ซึ่งอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

หากดูแลตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโรคและให้การรักษาตามความเหมาะสม ตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ การให้สารน้ำเพื่อป้องกันการขาดน้ำและแร่ธาตุ Hack for Health แนะนำให้ใช้ยาตามแพทย์บอกอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ เพราะบางคนอาจอาการดีขึ้นเหมือนว่าหายแล้วเลยหยุดใช้ยา ซึ่งอาจทำให้เชื้อดื้อยาและอาการรุนแรงขึ้นกว่าดื่ม

สำหรับวิธีป้องกันอาการท้องเสีย สามารถทำได้ตั้งแต่เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

หลังหายจากอาการท้องเสีย แนะนำให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสและลดความรุนแรงเมื่อเจ็บป่วย การกินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ อย่างโยเกิร์ต กิมจิ คอมบูฉะจะช่วยปรับสมดุลลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติมากขึ้น

ที่มา: Mayo Clinic, Mahidol

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส